ดูแลให้ลูกน้อยได้เคลื่อนไหวและขยับร่างกายบนพื้นที่ว่างเป็นประจำทุกวัน เพื่อเสริมทักษะการเคลื่อนไหว และควรระวังเป็นพิเศษหากคุณมีสัตว์เลี้ยง

ลูกน้อยวัย 2 เดือน
คุณแม่จะรู้สึกผ่อนคลายขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงเดือนที่ 2 เพราะคุณพ่อและคุณแม่ต่างปรับตัวได้แล้ว และเริ่มเข้าใจลูกน้อยมากขึ้นตามลำดับ ขณะที่ลูกน้อยเองก็เริ่มโต้ตอบกับคุณได้มากขึ้น เช่น การยิ้ม แสดงสีหน้า แน่นอนว่ารอยยิ้มของลูกน้อยทำให้คุณพ่อและคุณแม่ชื่นใจได้มาก
ลูกน้อยจะสื่อสารด้วยเสียงอ้อแอ้ของเค้าออกมา ขั้นตอนง่ายๆ ในการแสดงความรักให้ลูกน้อยรับรู้ได้ คือ การสบตาและพูดกับเค้าด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน ค่อยๆ ขยับปากให้เค้าเห็นชัดๆ ใกล้ๆ และเมื่อลูกน้อยยิ้มให้คุณ พยายามสัมผัสให้เค้ารับรู้ว่าคุณเห็นและเข้าใจสิ่งที่เค้าพยายามสื่อสารกับคุณแล้ว นี่คือช่วงเวลาแห่งความผูกพันระหว่างพ่อ แม่และลูกน้อยที่มีคุณค่าและวิเศษที่สุด
การให้นมลูกน้อย
ลูกน้อยในวัยนี้แสดงอาการหิวได้ชัดเจนขึ้น เป็นช่วงที่เค้าพยายามกำหนดช่วงเวลาการกินนมด้วยตัวเอง คุณเพียงแต่ทำตามและป้อนนมเมื่อถึงเวลาที่ลูกน้อยให้สัญญาณ สำหรับคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ อาจจะต้องสลับเต้านมทั้งสองข้างในการป้อนลูกรัก
การให้นมลูกช่วงเดือนที่ 2 นี้ ลูกน้อยยังตื่นขึ้นมากินนมในตอนกลางคืนอยู่ แต่จะเริ่มปรับตัวด้วยการนอนที่ยาวนานกว่าเดิม เป็น 5-6 ชั่วโมง ซึ่งคุณแม่ก็จะได้พักผ่อนนานขึ้นด้วย
การนอนของเจ้าตัวเล็ก
ลูกน้อยเริ่มนอนอย่างมีระบบมากขึ้น โดยเริ่มนอนกลางวันนานขึ้นจากเดิมที่นอนทุกๆ 1-3 ชั่วโมง ลูกน้อยจะเริ่มงีบหลังจากกินนมอิ่มแล้วประมาณ 30 นาทีขึ้นไป ซึ่งคุณแม่ช่วยเตรียมลูกน้อยด้วยการจัดที่นอนสบายๆ และสร้างบรรยากาศการนอนหลังป้อนนมแล้ว เด็กวัยนี้จะเริ่มใช้เวลานอนนานขึ้นเป็น 9-18 ชั่วโมงต่อวัน
พฤติกรรมของหนู
ช่วงที่คุณพ่อและคุณแม่หนักใจมากที่สุด คือ การที่ลูกน้อยเริ่มร้องไห้บ่อยขึ้นโดยไม่รู้สาเหตุ ลูกน้อยวัยนี้ใช้การร้องเพื่อสื่อถึงความต้องการบางอย่าง อาจเกิดจากความอึดอัดจากการปรับสมดุลของระบบประสาทและร่างกายของตนเอง หรือบางครั้งต้องการให้มีคนอยู่ใกล้ๆ ตลอดเวลา ดังนั้น คุณแม่ต้องใช้สัญชาติญาณคอยสังเกตและเดาความต้องการของลูกน้อย การอุ้มไปเดินเล่นเปลี่ยนบรรยากาศบ้างก็ช่วยให้ลูกน้อยผ่อนคลายและอารมณ์ดีได้
พัฒนาการของทารก
ลูกน้อยจะเริ่มเรียนรู้และหัดใช้นิ้วมือสัมผัส หยิบจับของรอบตัวมากขึ้น ควรหาของเล่นที่นุ่มและปลอดภัย เพื่อให้ลูกน้อยเล่นและใช้นิ้วมือฝึกกล้ามเนื้อ ขณะเดียวกัน เจ้าตัวเล็กจะเริ่มยืดแขนขา และเหยียดลำตัวไปมา บ่อยครั้งที่ลูกน้อยตกใจเมื่อเห็นอวัยวะแขนขาของตัวเองขยับไปมา
ทัศนวิสัยและการมองเห็นของลูกน้อยวัย 2 เดือนจะเห็นในระยะใกล้มากๆ ดังนั้น เมื่อลูกน้อยมองใบหน้าและยิ้มให้ นั่นแสดงว่าเค้าจำคุณได้แล้ว คุณแม่ควรหาของเล่นและยื่นเข้าไปใกล้ในระยะที่ลูกน้อยจะเห็นได้ชัด และคอยสังเกตุว่าสายตาของลูกมีสิ่งผิดปกติหรือไม่ การพัฒนาการของระบบการมองเห็นในช่วงวัยนี้จะรวดเร็วมาก หากพบว่ามีปัญหาควรรีบแก้ไขก่อนให้ทันท่วงที
การเจริญเติบโตของลูกน้อย
อัตราการเจริญเติบโตและน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นเรื่องปกติของลูกน้อย อยู่ที่อัตราเฉลี่ย 150-200 กรัมต่อสัปดาห์ บางสัปดาห์อาจจะเพิ่มไม่ต่อเนื่อง จึงไม่ควรกังวลนัก นอกจากสังเกตน้ำหนักแล้ว ขนาดของรอบวงศีรษะ และส่วนสูง รวมทั้งพัฒนาการทางสมองและร่างกายส่วนอื่นๆ ก็เป็นดัชนีแสดงการเจริญเติบโตของลูกน้อยด้วย คุณแม่จึงควรหมั่นสังเกตและคอยจดบันทึกไว้เสมอ
การดูแลสุขอนามัยที่ดี
การฉีดวัคซีนเข็มแรกเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง และคุณแม่ควรมีสมุดบันทึกสุขภาพลูกน้อยส่วนตัว เป็นคู่มือเตือนความจำสำหรับการรับการฉีดวัคซีนและเก็บข้อมูลสำหรับการดูแลรักษาต่อไป
ปลอดภัยไว้ก่อน
ดูแลให้ลูกน้อยได้เคลื่อนไหวและขยับร่างกายบนพื้นที่ว่างเป็นประจำทุกวัน เพื่อเสริมทักษะการเคลื่อนไหว และควรระวังเป็นพิเศษหากคุณมีสัตว์เลี้ยง รวมถึงการเฝ้าระวังลูกน้อยไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ คือ ตรวจสอบพื้นที่บริเวณที่จะปล่อยให้ลูกน้อยของคุณนอนเล่น ระวังวัสดุที่แข็งหรือมีคมที่อันตราย หากลูกน้อยเผลอไปหยิบเล่น
การละเล่นของทารก
ทดสอบการได้ยินของลูกน้อยด้วย คุณแม่ควรสังเกตปฏิกิริยาของลูกน้อยเมื่อเกิดเสียงดังขณะที่กำลังเล่น ว่ามีปฏิกิริยาตกใจ กระโดด หรือ ตอบสนองกับเสียงที่ดังฉับพลันได้ดีเพียงใด หากพบว่าลูกน้อยมีการตอบสนองช้าหรือลังเล ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาอย่างใกล้ชิด
สิ่งที่คุณแม่ต้องเรียนรู้
คุณแม่ควรปลีกเวลาทำภาระกิจส่วนตัวบ้างในแต่ละสัปดาห์ โดยเฉพาะการออกกำลังกายเบาๆ เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เช่น เดิน ว่ายน้ำ โยคะ หรือการยกน้ำหนัก แม้แต่การทบทวนสัปดาห์ที่ผ่านมาว่ามีสิ่งใดที่ทำให้คุณเหนื่อยล้ามากกว่าปกติหรือไม่
สำหรับคุณแม่ที่ให้นมลูกด้วยตัวเอง ทรวงอกของคุณแม่จะขยายตัวกว่าเดิม จึงควรสวมใส่บราที่กระชับ หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่อาจเกิดการกระแทกบริเวณทรวงอก ระวังอย่าออกกำลังกายที่หักโหมเกินไป เพราะอาจส่งผลต่อทรวงอกและปริมาณน้ำนม
ในช่วง 4-6 สัปดาห์หลังคลอด คุณแม่ควรได้รับการตรวจภายใน ดูแผลผ่าตัดและน้ำคาวปลา รวมทั้งดูว่ามดลูกและช่องคลอดกลับสู่สภาวะปกติ หรือมีอะไรผิดปกติหรือไม่ อย่าละเลยการตรวจภายในหลังการคลอดบุตร ควรปลีกเวลาไปพบแพทย์ โดยเฉพาะคุณแม่ที่ยังอยากมีลูกน้อยเพิ่มอีก หรือต้องการคำแนะนำจากแพทย์เกี่ยวกับการมีบุตร
รู้ทันอารมณ์
สำหรับคุณแม่ที่เคยมีประสบการณ์การเลี้ยงดูทารกแรกเกิดมาแล้ว การเลี้ยงลูกน้อยคนต่อมาจึงเป็นเรื่องปกติ แต่ในเดือนที่สองนี้ คุณพ่อหรือผู้ช่วยคนอื่นๆ จะเริ่มปลีกตัวออกไปทำงานประจำแล้ว คุณแม่บางคนอาจรู้สึกเหนื่อยล้ามากกว่าเดิม
ส่วนคุณแม่ที่ตั้งใจจะเลี้ยงลูกเองจนครบ 1 ขวบ ต้องปรับอารมณ์อย่างมาก จากเดิมที่เคยทำงานประจำสู่การเป็นคุณแม่ 24 ชั่วโมงที่ทุ่มเททุกวินาทีเพื่อลูกตัวน้อย สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรละทิ้ง คือ การแบ่งเวลาให้กับเพื่อนฝูงและญาติสนิทบ้าง เพื่อลดความรู้สึกแปลกแยกหรือโดดเดี่ยวที่อาจส่งผลลบต่ออารมณ์ได้
การดูแลและใส่ใจตนเอง
หลังการคลอดของคุณแม่ฮอร์โมนในร่างกายมีการปรับตัว จึงไม่ต้องกังวลกับเส้นผมที่หลุดร่วง เพราะอาการเหล่านี้จะค่อยๆ ลดลงในที่สุด และหมั่นดูแลความสะอาดภายในช่องปาก ฟันและเหงือกอย่างสม่ำเสมอ เพราะเชื้อโรคในช่องปากของคุณอาจแพร่ไปสู่ลูกน้อยได้ด้วยรอยจูบจากคุณแม่
คุณแม่กับการพักผ่อน
คุณแม่อาจเริ่มง่วงเร็วขึ้นตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ เพราะร่างกายต้องการพักแล้ว ดังนั้น คุณแม่ควรฉวยโอกาสนอนพักในช่วงเดียวกับที่ลูกน้อยงีบหลับระหว่างวัน เพื่อให้คุณแม่มีพลังและความสดชื่น แม้ว่าจะต้องพร้อมตื่นมาให้นมในกลางดึกอีกกี่ครั้งก็ตาม
ความสัมพันธ์ของคุณกับคนรอบข้าง
ความสัมพันธ์ของคุณแม่และคุณพ่ออาจจะต้องมีการปรับตัวมากในช่วงระยะหลังการคลอด เพราะคุณแม่จะทุ่มเทเวลาทั้งหมดในการเลี้ยงดูลูก แต่คุณแม่ก็สามารถจัดสรรเวลาเพื่อมีเพศสัมพันธ์กับคู่ชีวิตได้ตามปกติ และควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการคุมกำเนิดระหว่างนี้ได้