Tag: กฎหมายเกี่ยวกับบุตร

“ทำแท้งปลอดภัย” แอกใหญ่ของผู้หญิงที่ยังไม่ถูกปลด
สถานพยาบาลไฟสลัวในตึกแถวเก่า ๆ ย่านชานเมือง อบอวลไปด้วยด้วยกลิ่นเหม็นสาบและคราบสกปรก มีเสียงร้องโหยหวนด้วยความเจ็บปวดของหญิงสาวดังกึกก้องจากห้องตรวจ สร้างความหวาดหวั่นให้กับหญิงสาวคนอื่นที่นั่งรออยู่ด้านนอก นี่คือภาพจำของ “การทำแท้ง” ที่ปรากฏอยู่ในสื่อกระแสหลักของสังคมไทย บวกกับทัศนคติและความเชื่อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้งที่ไหลเวียนอยู่ในสังคมมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “ผีเด็ก” ที่ติดตามผู้หญิงที่เคยทำแท้ง หรือความเชื่อที่ว่าผู้หญิงที่เคยทำแท้ง “ทำอะไรก็ไม่เจริญ” เพราะบาปกรรมจากการฆ่าลูก รวมทั้งกฎหมายที่กำหนดบทลงโทษผู้หญิงที่ทำแท้ง ทำให้ทุกครั้งที่พูดถึงการทำแท้ง คนทั่วไปมักคิดถึงภาพความน่ากลัวและการกระทำที่ไร้ศีลธรรมเสมอ แม้ประเทศไทยจะไม่ได้ห้ามการทำแท้งในทุกกรณี แต่ประเด็นการทำแท้งก็จุดกระแสการถกเถียงในสังคมได้เสมอ ขณะที่ฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการให้แก้ไขกฎหมายการทำแท้ง และยกเรื่องศีลธรรมขึ้นมาอ้าง อีกฝ่ายก็มองไปถึงเรื่องของความจำเป็นในชีวิตและสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง อีกทั้งการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะทำให้ผู้หญิงมีทางเลือกที่ดีต่อทั้งตัวเองและสังคม ที่จริงแล้ว กฎหมายทำแท้งและทัศนคติของคนต่อเรื่องนี้ควรได้รับการแก้ไขหรือไม่ และจะทำได้อย่างไร Sanook คุยกับ “กลุ่มทำทาง” กลุ่มอาสาสมัครที่ทำงานให้คำปรึกษาผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม และทำงานขับเคลื่อนเรื่องการทำแท้งปลอดภัยมานานกว่า 10 ปี เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ “กลุ่มทำทาง” เพื่อ “สิทธิการทำแท้ง” ของผู้หญิง ย้อนกลับไปในปี 2553 ข่าวการพบซากทารกมากกว่า 2,000 ศพ ในบริเวณวัดไผ่เงินโชตนาราม กรุงเทพฯ เป็นข่าวดังที่ทั้งสะเทือนใจคนไทยและส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามต่อระดับศีลธรรมของคนในสังคม ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ “กลุ่มทำทาง” ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมและต้องการเข้าถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัย แม้จะก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกเขาต้องต่อสู้กับแรงเสียดทานของสังคมต่อเรื่องการทำแท้งที่รุนแรง […]

การยุติการตั้งครรภ์: เมื่อกฎหมายบังคับให้สังคมเปลี่ยนแปลง
การยุติการตั้งครรภ์: เมื่อกฎหมายบังคับให้สังคมเปลี่ยนแปลง ณัฐดนัย นาจันทร์สิริลักษณ์ บุตรศรีทัศน์ “สังคมไทยเป็นสังคมที่ผูกยึดอยู่กับความเชื่อในศาสนา” ข้อความนี้เป็นข้อความที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ โดยเฉพาะเมื่อสำรวจตรวจสอบประวัติศาสตร์ของสังคมการเมืองไทย ที่มีการกล่าวถึงศาสนาพุทธในฐานะศาสนาประจำชาติ และในฐานะของหนึ่งในแก่นกลางของระบบการเมืองการปกครองแบบไทย การดำรงอยู่ของศาสนาที่ผูกติดอยู่กับสังคมและระบบการเมืองอย่างแน่นแฟ้นนี้ ประการหนึ่งย่อมส่งผลให้ค่านิยมบางประการของศาสนาถูกถ่ายเทออกมาจนกลายเป็นค่านิยมพื้นฐานของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเชื่อเกี่ยวกับบุญหรือบาปอันเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการพรากชีวิตของบุคคล ภายใต้โครงสร้างสังคมที่มีความเชื่ออย่างแนบแน่นว่าการพรากชีวิตของบุคคลหนึ่งบุคคลใดไปนั้นเป็นบาปอย่างใหญ่หลวง ย่อมก่อให้เกิดระบบกฎหมายที่พยายามห้ามมิให้เกิดการพรากชีวิตของบุคคลในทุกกรณีด้วย โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับการพรากชีวิตของตัวอ่อนหรือของทารกในครรภ์มารดาที่ยังไม่มีความสามารถมากพอที่จะแสดงออกซึ่งการปกป้องและเรียกร้องสิทธิให้กับตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิทธิในการมีชีวิต อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้การห้ามมิให้หญิงยุติการตั้งครรภ์โดยอิสระจะดูสอดคล้องกับลักษณะของสังคมและวัฒนธรรมไทย อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติที่กำหนดโทษในทางอาญาสำหรับการห้ามมิให้หญิงยุติการตั้งครรภ์นั้นพึ่งปรากฏตัวครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 ราวปี พ.ศ. 2452 เมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ขึ้น โดยกำหนดไว้เป็นความผิดในส่วนที่เจ็ด หมวดที่สาม ว่าด้วยความผิดฐานรีดลูก ทั้งนี้ หากพิจารณาย้อนหลังไปถึงกฎหมายตราสามดวงและพระอัยการเบ็ดเสร็จ ซึ่งมีการประกาศใช้ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์และสืบสายมาจากระบบกฎหมายในช่วงสมัยอยุทธยาแล้ว จะพบว่าไม่มีการกำหนดโทษสำหรับการยุติการตั้งครรภ์โดยหญิงไว้เลย กล่าวโดยย่อแล้ว ย่อมเห็นได้ว่าแม้การยุติการตั้งครรภ์จะมีลักษณะที่ขัดแย้งกับศีลธรรมอันเป็นรากฐานความเชื่อของสังคมไทย จนได้รับการบัญญัติห้ามไว้ในประมวลกฎหมายซึ่งกำหนดโทษในต่อเนื้อตัวและร่างกายในทางอาญา แต่การกำหนดโทษนั้นพึ่งมีขึ้นก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงไม่นาน อย่างไรก็ตาม เป็นสิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า สังคมไทยได้ซึมซับและยอมรับให้การยุติการตั้งครรภ์นั้นไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่ขัดต่อกฎหมาย แต่ยังเป็นสิ่งที่ขัดต่อคุณค่าและรากฐานความเชื่อของสังคม ข้อสังเกตประการหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ในการสนับสนุนเหตุผลดังกล่าวได้ นั่นคือแม้ก่อนที่จะมีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาให้หญิงที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างอิสระ จะมีการให้บริการจากรัฐเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาปัญหาว่าด้วยการยุติการตั้งครรภ์และการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม […]