การดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด

สังเกตการหายใจของลูก เพื่อระวังไม่ให้ลูกตัวเขียวหรือขาดอากาศหายใจ สภาพแวดล้อมที่บ้านต้องสะอาดอยู่เสมอ ไม่ควรเปิดแอร์หนาวเกินไปเพราะเด็กยังปรับตัวไม่ได้…

ระยะการตั้งครรภ์ของคุณแม่

การตั้งครรภ์จะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

  • กลุ่มที่ 1 อายุครรภ์ 38-40 สัปดาห์ (Full Term) จะเรียกว่าครบกำหนดคลอด หากคุณแม่แข็งแรงดี จะสามารถคลอดได้เองตามธรรมชาติ
  • กลุ่มที่ 2 อายุครรภ์ 37-34 สัปดาห์ (Post Term) จะนับว่าเป็นกลุ่มที่คลอดก่อนกำหนด และพบได้บ่อยที่สุด ทารกกลุ่มนี้จะมีลักษณะภายนอกดูปกติดี แต่อวัยวะภายในอาจจะพบความผิดปกติได้ หลังคลอดมักจะพบอาการ หายใจเร็วนิดหน่อย ตัวเหลือง ดูดนมไม่เก่ง และอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ขึ้นอยู่กับสุขภาพของคุณแม่ด้วย เด็กที่คลอดในช่วงนี้จะมีน้ำหนักตั้งแต่ 1,700-3,000 กรัม
  • กลุ่มที่ 3 อายุครรภ์ 28-34 สัปดาห์ ในกลุ่มนี้เด็กที่คลอดออกมามักจะมีปัญหาสุขภาพ เนื่องจากอวัยวะภายในยังไม่สมบูรณ์ ในอดีตทางสมาคมสูตินารีแพทย์เคยกำหนดไว้ว่าหากอายุครรภ์น้อยกว่า 28 สัปดาห์ หากคลอดออกมาจะถือว่าแท้ง แต่ในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีทางการแพทย์พัฒนาไปมากจึงทำให้ทารกที่คลอดก่อนกำหนดในกลุ่มนี้มีโอกาสรอดได้มากขึ้น

ปัญหาสุขภาพของทารกคลอดก่อนกำหนด

ในกรณีที่อายุครรภ์ต่ำกว่า 34 สัปดาห์ ทารกที่คลอดออกมามักจะมีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากปอดยังเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ เมื่อหายใจได้ไม่ดีก็มีผลไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกายด้วย

  • โรค RDS (Respiratory Distress Syndrome) เกิดจากการที่ถุงลมในปอดของเด็กไม่มีสารที่ช่วยยืดหยุ่นหรือลดการต้านทาน โดยปกติแล้วเวลาหายใจเข้าถุงลมจะมีการโป่งและแฟ่บโดยอัตโนมัติ  แต่ในกรณีที่เด็กคลอดก่อนกำหนดและไม่ได้มีเตรียมความพร้อมก่อนคลอด ทำให้ปอดไม่มีสารช่วยลดแรงตึงผิว ทำให้ปอดแฟ่บ กว่าจะขยายออกมาได้ก็ทำให้เด็กหายใจลำบาก เหนื่อยง่าย หายใจเร็ว
  • โรคลิ้นหัวใจหรือ PDA (Patent Puctus Arteriosus) คือ ความผิดปกติที่หัวใจ เช่น หัวใจรั่ว เส้นเลือดหัวใจเกิน ซึ่งปกติแล้วอาการเส้นเลือดหัวใจเกินสามารถเกิดได้กับเด็กทุกคนอยู่แล้ว แต่เส้นเลือดที่เกินมานี้สามารถปิดได้เองอัตโนมัติเมื่ออายุครรภ์ใกล้ๆ 37 สัปดาห์ หรือเมื่อคลอดออกมาแล้วเด็กร้อง เพราะออกซิเจนในปอดทำงาน กลไกของร่างกายจึงปิดเส้นเลือดเหล่านั้นไปโดยอัติโนมัติ
  • โรคลำไส้ติดเชื้อ หรือ NEC (necrotizing enterocolitis) เนื่องจากเด็กที่คลอดก่อนกำหนดอวัยวะต่างๆ จะยังไม่สมบูรณ์ ทำให้ผิวหนังทุกส่วนบางไปหมด รวมไปถึงลำไส้ที่ยังไม่ได้สร้างน้ำย่อยมาเพื่อที่จะย่อยอาหาร หรือย่อยนมด้วยตัวเองได้ ทำให้ทารกมีโอกาสท้องอืดได้ง่ายมากขึ้น คุณแม่จึงควรระวังเรื่องอาหารของเด็กทารก เพราะลำไส้ยังไม่แข็งแรงและสามารถติดเชื้อได้ง่าย
  • ในกรณีที่เด็กเล็กมากๆ จะพบ IVH (Intravascular Hemorrhage) คือ โรคเส้นเลือดมันบาง โดยเฉพาะบริเวณกระหม่อม เป็นบริเวณที่เส้นเลือดเปราะบางมาก หากเด็กร้องแรงๆ หรือถูกกระทำแรงๆ อาจทำให้เส้นเลือดในสมองแตกได้ หรืออาจมีภาวะเลือดออกในสมอง ซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นในอนาคตได้
  • ตัวเหลือง ถ้าในทารกแรกเกิดที่คลอดก่อนกำหนดโดยปกติมักจะตัวเหลืองทุกคน ขึ้นอยู่กับว่าเหลืองด้วยอาการอะไร และรุนแรงถึงขั้นต้องเปลี่ยนถ่ายเลือดหรือเปล่า หากเด็กถูกนำไปส่องไฟแล้วไม่ดีขึ้นแสดงว่าอาจจะมีอาการอื่นแทรกซ้อน

วิธีการดูแลทารกหลังออกจากโรงพยาบาล

  • เมื่อไหร่ที่ออกจากโรงพยาบาลแล้ว คุณแม่จะต้องเรียนรู้วิธีการป้อนนมด้วยตัวเอง รู้จักวิธีการเข้าเต้า การปั๊มน้ำนม และสังเกตพฤติกรรมการกินของลูก
  • ต้องจดบันทึกการอุจจาระของลูก เพื่อดูว่าการกินอาหารสัมพันธ์กับการขับถ่ายหรือไม่
  • สังเกตการหายใจของลูก เพื่อระวังไม่ให้ลูกตัวเขียวหรือขาดอากาศหายใจ
  • สภาพแวดล้อมที่บ้านต้องสะอาดอยู่เสมอ ไม่ควรเปิดแอร์หนาวเกินไปเพราะเด็กยังปรับตัวไม่ได้ และแนะนำให้นอนในห้องแอร์เพราะสภาพอากาศเมืองไทยเปลี่ยนแปลงบ่อย ควรเปิดแอร์ 27 องศาและทำความสะอาดแอร์บ่อยๆ เพื่อป้องกันไรฝุ่น และควรเปลี่ยนผ้าปูที่นอนทุกครั้งที่เปื้อน
  • ห้ามมีสัตว์เลี้ยงในบ้าน ควรนำไปฝากเลี้ยงที่อื่นก่อนจนกว่าภูมิคุ้มกันของลูกจะแข็งแรง
  • หลีกเลี่ยงการพาเด็กออกไปในที่สาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้า เนื่องจากภูมิคุ้มกันของเด็กยังไม่แข็งแรง หากไปรับเชื้อจากคนภายนอกจะป่วยได้ง่ายขึ้น
  • ใส่ใจเรื่องโภชนาการของลูก เพื่อให้ได้สารอาหารที่ครบถ้วน และช่วยเร่งการเจริญเติบโต

อาการที่ทำให้คุณแม่มีโอกาสคลอดก่อนกำหนด

  • อาการบวมและความดันโลหิตสูง

อาการนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ที่มีประวัติเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝด อาจเป็นสัญญาณหนึ่งของการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ คุณแม่ที่มีประวัติเป็นโรคดังกล่าวขณะตั้งครรภ์ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด

  • มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด

มูกเลือดหรือมีสีน้ำตาลปนเลือด หรือมีมูกข้นเป็นก้อนหลุดออกมาทางช่องคลอด หากไม่รุนแรงจะทำให้ช่องคลอดอักเสบ ปากมดลูกอับเสบ แต่หากรุนแรงมากขึ้นจะทำให้รกเกาะต่ำ หรือรกลอกก่อนกำหนด แสดงอาการเปิดของมดลูก อาจทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด และทำให้ทารกในครรภ์มีโอกาสเสียชีวิตได้

  • มีอาการน้ำเดิน

น้ำเดิน คือ ภาวะที่เกิดจากแตกหรือรั่วของถุงน้ำคร่ำ ทำให้มีน้ำคร่ำไหลออกมา มักเกิดเมื่อเริ่มเข้าสู่ระยะใกล้คลอด แต่บางกรณีก็อาจเกิดขึ้นนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนดได้ เนื่องจากการบีบตัวของมดลูกอย่างรุนแรง หรือเกิดการกระแทกจากอุบัติเหตุ เมื่อถุงน้ำคร่ำรั่ว มีน้ำเดินออกมา เชื้อโรคก็สามารถจะเข้าไปในถุงน้ำคร่ำ ก่อให้เกิดการติดเชื้อในทารกและเป็นอันตรายถึงชีวิต