การดูแลปากและฟัน หญิงตั้งครรภ์มักมีปัญหาฟันผุ และเหงือกอักเสบได้ง่าย … การดูแลแผล. คุณ แม่ที่คลอดบุตรโดยการผ่าตัด ไม่ควรให้แผลเปียกน้ำใน 7 วันแรก …

เมื่อ รู้ว่าตั้งครรภ์ คุณแม่ส่วนใหญ่จะมีความตื่นเต้น ยินดี แต่บางครั้งก็รู้สึกกังวลใจ เมื่อร่างกายเปลี่ยนแปลง การได้เรียนรู้ในการดูแลสุขภาพจะช่วยให้คุณแม่เข้าใจตนเอง และสร้างความมั่นใจในการตั้งครรภ์ได้ดีขึ้น
การฝากครรภ์
การฝากครรภ์มีประโยชน์สำหรับคุณแม่มาก คุณแม่จะได้รับการฉีดยาป้องกันบาดทะยัก ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เพื่อค้นหาความผิดปกติ ซักประวัติ ตรวจร่างกายโดยละเอียด เพื่อให้ทราบว่าการตั้งครรภ์เป็นปกติหรือไม่ ได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตัว และได้รับยาบำรุงร่างกาย หรือยาตามอาการที่แพทย์ตรวจพบ ควรมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง หรือมาก่อนนัดได้เมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น
อาการที่พบขณะตั้งครรภ์
1. คลื่นไส้ อาเจียน ที่เรียกกันว่าแพ้ท้อง พบได้ตั้งแต่ประจำเดือนเริ่มขาด ควรรับประทานอาหารครั้งละน้อยแต่บ่อยครั้ง ไม่เคร่งเครียด และกังวลใจจนเกินไป ถ้ามีอาการมากควรปรึกษาแพทย์
2. ท้องอืด เนื่องจากกระเพาะอาหาร และลำไส้เคลื่อนไหวน้อยลง จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ย่อยยาก ของหมักดอง อาหารหรือเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดลม หรือแก๊สมาก
3. ท้องผูก พบได้บ่อยในหญิงตั้งครรภ์ เพราะการเคลื่อนไหวของลำไส้ช้าลง ควรรับประทานอาหารที่มีกากใน เช่น ผัก ผลไม้ให้มากขึ้น ดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว ออกกำลังกายบ้าง และขับถ่ายเป็นประจำทุกวัน ถ้าท้องผูกมากควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรซื้อยาระบายท้องรับประทานเอง
4. ปัสสาวะบ่อย เป็นเพราะมดลูกที่โตขึ้นไปกด และเบียดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะออกบ่อย ไม่ควรกลั้นปัสสาวะนาน เนื่องจากจะทำให้กระเพาะปัสสาวะ และกรวยไตอักเสบได้
5. ตกขาว พบได้ตลอดระยะตั้งครรภ์ เนื่องจากเลือดมาเลี้ยงช่องคลอดมากขึ้น จึงขับมูกขาวออกมาก ถือเป็นเรื่องปกติ ควรรักษาความสะอาด แต่ถ้ามีตกขาวมากผิดปกติ ตกขาวมีกลิ่นเหม็น หรือมีอาการคันร่วมด้วย ควรรีบปรึกษาแพทย์
6. เส้นเลือดขอด เกิดจากการที่มดลูกขยายใหญ่ขึ้น และไปกดการไหลกลับของเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนขา ทำให้เลือดมาคั่งอยู่ในบริเวณที่ต่ำกว่าตั้งแต่โคนขาลงมาจนถึงเท้า เมื่อเลือดคั่งอยู่นาน ทำให้เส้นเลือดโป่งพองขึ้น ควรนอนยกเท้าให้สูงกว่าลำตัวบ้าง ไม่ควรนั่งไขว่ห้าง หรือนั่งห้อยเท้า ควรมีโต๊ะวางปลายเท้าให้สูง เปลี่ยนอิริยาบถทุก 1 ชั่วโมง
7. ตะคริว มักเป็นที่ปลายเท้า และน่อง พบบ่อยในหญิงตั้งครรภ์ เกิดจากระดับแคลเซียมในเลือดลดต่ำ และจากการไหลเวียนของเลือดที่ขาช้าลง ควรนอนยกขาให้สูง นวด และใช้น้ำอุ่นประคบ รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม กุ้ง ปลาตัวเล็ก ๆ ปลากระป๋อง ผักใบเขียวจัด เป็นต้น
8. เด็กดิ้น คุณแม่จะรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของลูกในครรภ์เป็นครั้งแรก เมื่อตั้งครรภ์ได้ 4-5 เดือน ความรู้สึกจะแผ่ว ๆ เหมือนปลาตอดเบา ๆ เมื่อใกล้คลอดเด็กในครรภ์โตขึ้นจะดิ้นแรง ถ้ารู้สึกลูกดิ้นน้อยลงควรพบแพทย์

การปฏิบัติตัวระหว่างตั้งครรภ์
1. การรับประทานอาหาร คุณแม่จะรับประทานอาหารได้ดีขึ้น เมื่ออาการแพ้ท้องหายไป ควรเลือกอาหารที่มีประโยชน์ ประเภทเนื้อสัตว์ ไข่ นม ผัก ผลไม้ ไม่ควรรับประทานอาหารพวก ข้าว แป้ง น้ำตาล ขนมหวาน ไขมันมาเกินไป ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารดิบ ๆ สุก ๆ ของหมักดอง ผงชูรส ชา กาแฟ เหล้า และบุหรี่
2. การพักผ่อน ระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่จะรู้สึกเหนื่อย และอ่อนเพลียง่าย กลางคืนควรนอนหลับให้เต็มอิ่ม ประมาณ 8-10 ชั่วโมง และควรหาเวลานอนพักในตอนบ่ายอีกอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
3. การออกกำลังกาย ช่วยให้ระบบการย่อยอาหารดี ร่างกายแข็งแรง เช่น เดินเล่นในที่ที่มีอากาศปลอดโปร่ง ทำงานบ้านเบา ๆ บริหารร่างกายด้วยท่าง่าย ๆ ข้อควรระวัง คือ อย่าออกกำลังกายหักโหมจนร่างกายเหนื่อย อ่อนเพลีย หรือกระทบกระเทือนท้อง
4. การรักษาความสะอาดร่างกายระยะ ตั้งครรภ์จะรู้สึกร้อน และเหงื่อออกมาก ควรอาบน้ำให้ร่างกายสะอาดสดชื่น แต่ถ้าอากาศเย็นควรอาบน้ำอุ่น และให้ความอบอุ่นกับร่างกาย ถ้าผิวแห้ตึงให้ใช้โลชั่นทาหลังอาบน้ำ
5. การดูแลปากและฟัน หญิงตั้งครรภ์มักมีปัญหาฟันผุ และเหงือกอักเสบได้ง่าย ควรแปรงฟันอย่างถูกวิธีวันละ 2 ครั้ง และบ้วนปากด้วยน้ำสะอาด หรือแปรงฟันทุกครั้งหลังอาหาร ถ้ามีปัญหาช่องปาก และฟันควรรีบพบทันตแพทย์
6. การดูแลเต้านม ขณะตั้งครรภ์เต้านมจะขยายขึ้น เพื่อเตรียมสร้างน้ำนมให้ลูกน้อย ควรเปลี่ยนยกทรงให้มีขนาดพอเหมาะใส่สบาย คุณแม่บางคนอาจจะมีน้ำนมไหลซึมออกมา ไม่ต้องกังวลใจ เวลาอาบน้ำให้ล้างเต้านมด้วยน้ำสะอาด ไม่ควรฟอกสบู่เพราะจะทำให้ผิวแห้งมาก อาจใช้โลชั่นทานวด เมื่อรู้สึกผิวแห้งตึง หรือคัน ถ้ามีปัญหาหัวนมสั้น หัวนมบอด หรือผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลที่ฝากครรภ์ก่อนที่จะคลอด มิฉะนั้นอาจจะมีอุปสรรคต่อการให้นมลูก
7. การมีเพศสัมพันธ์ ไม่มีข้อห้ามในผู้ตั้งครรภ์ปกติ แต่ควรงดเว้นใน 1 เดือน สุดท้ายก่อนคลอด ในรายที่เคยแท้ง
ควรงดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ในรายที่มีปัญหาอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์ผู้ตรวจครรภ์

อาการผิดปกติที่ควรพบแพทย์
– คลื่นไส้ อาเจียนมากว่าปกติ
– ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว
– ปัสสาวะขัดแสบ มีไข้สูง
– ตกขาว มีกลิ่นเหม็น มีสีเขียวปนเหลือง คันช่องคลอด
– บวมตาหน้า มือ และเท้า
– ลูกดิ้นน้อยลงจนผิดสังเกต อย่ารอจนลูกไม่ดิ้น
– มีเลือดออกทางช่องคลอด
– มีน้ำใส ๆ คล้ายปัสสาวะออกทางช่องคลอด
– ปวดท้อง หรือท้องแข็งเกร็งบ่อยมาก
– มีเลือดออกทางช่องคลอด
เมื่อมีอาการเหล่านี้ หรืออาการที่คิดว่าผิดปกติอื่น ๆ ควรรีบพบแพทย์ หากทิ้งไว้นานจะมีอันตรายต่อคุณแม่ และลูกที่อยู่ในครรภ์
คำแนะนำมารดาหลังคลอด
การพักผ่อน
หลังคลอดคุณแม่จะอ่อนเพลียมาก จากการคลอดและการเสียเลือดจึงควรพักผ่อนให้พอเพียง เพื่อร่างกายจะได้พักฟื้นได้เร็ว
คุณ พ่อและคุณแม่ควรได้วางแผนร่วมกันในการจัดระเบียบการทำภารกิจส่วนตัว และแผนการดูแลบุตร เพื่อให้ใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ และมีเวลาเหลือพอสำหรับการพักผ่อน และมีเวลาเหลือพอสำหรับการพักผ่อน
ควร พยายาม ปรับเวลานอนของลูก ให้นอนบ่อยๆในเวลากลางคืนให้ตื่นกลางวัน เพื่อจะได้สอดคล้องกับชีวิตปกติของพ่อแม่ คุณแม่จะได้พักผ่อนอย่างพอเพียง และแข็งแรง เพื่อที่จะได้สร้างน้ำนมให้ลูกได้กินอย่างเพียงพอด้วย

อาหาร
อาหาร ดีมีประโยชน์ คืออาหารหลัก 5 หมู่ ตามปกติคุณแม่ควรได้รับอาหาร 5 หมู่ อย่างสม่ำเสมอและพอเพียง อาหารเสริมที่จำเป็นกับสุขภาพ คือ
อาหาร ที่ให้ธาตุเหล็ก เพื่อบำรุงเลือดที่ต้องเสียไป เช่น ไข่แดง เนื้อสัตว์สีแดง เครื่องในสัตว์ ถ้าไม่ชอบคุณแม่ก็รับประทาน ยาบำรุงเลือดที่คุณหมอจัดให้
อาหาร ที่ให้แคลเซียม เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในนมแม่ ได้แก่ นม น้ำเต้าหู้ กระดูกสัตว์เล็กสัตว์น้อย หรือจะรับประทานเป็นชนิดเม็ดสำเร็จรูปก็ได้
นอกจากนี้อย่าลืมไฟเบอร์จากอาหาร เพื่อช่วยในการขับถ่ายคุณแม่ควรรับประทาน ผักผลไม้อย่างสม่ำเสมอ
สุดท้ายคุณแม่ต้องดื่มน้ำอย่างพอเพียง อย่างน้อยวันละ 3 ลิตรเพื่อสุขภาพคุณแม่เองและเพื่อเป็นน้ำนมลูกด้วย
การขับถ่าย
คุณ แม่มักมีปัญหาท้องผูกตั้งแต่ตั้งครรภ์ คุณแม่ควรดื่มน้ำ รับประทานผักผลไม้สม่ำเสมอ รวมทั้งฝึกถ่ายให้เป็นกิจวัตรทุกวัน การออกกำลังหรือการบริหารประจำก็ช่วยให้ขับถ่ายง่ายด้วยเช่นกัน