คุณแม่แท้งบุตรประมาณ 95% จะมีเลือดออกทางช่องคลอดและมีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วย อาการแท้งส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่บางคนอาจสังเกตเห็นว่ามีส่วนของชิ้นเนื้อคล้ายพุงปลาหลุดปนออกมาจากช่องคลอดด้วย

1. การแท้งคุกคาม (Threatened abortion) เป็นภาวะใกล้แท้ง พบได้ประมาณ 10% ของการตั้งครรภ์ทั้งหมด และครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้จะมีอาการแท้งตามมา (ส่วนอีกครึ่งคุณแม่จะตั้งครรภ์ต่อไปได้) คุณแม่จะมีเลือดออกไม่มากทางช่องคลอดแบบกะปริดกะปรอยโดยที่ปากมดลูกยังปิดอยู่ และมีอาการปวดท้องน้อยหรืออาจไม่มีอาการปวดท้อง จึงทำให้คุณแม่สับสนได้ว่าเป็นประจำเดือน

2. การแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (Inevitable abortion) คุณแม่จะมีเลือดออกทางช่องคลอด มีอาการปวดท้องน้อยมากขึ้น และปากมดลูกเปิดแล้ว เนื่องจากการหดรัดตัวของมดลูก บางครั้งก็มีการแตกของถุงน้ำคร่ำร่วมด้วย เมื่อปากมดลูกเปิดออกแล้ว จะไม่สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้และตัวอ่อนก็จะแท้งออกมาเอง หรือหากมาพบแพทย์ แพทย์อาจทำการดูดเอาทารกออกมาเพื่อให้เป็นการแท้งโดยสมบูรณ์

3. การแท้งเป็นนิจ หรือ การแท้งเป็นอาจิณ หรือ การแท้งซ้ำ (Recurrent miscarriage, Habitual abortion, Recurrent pregnancy loss – RPL) เป็นการแท้งติดต่อกันเกิน 3 ครั้งขึ้นไปในช่วงอายุครรภ์ใกล้เคียงกัน ซึ่งมีสาเหตุมาจากปากมดลูกปิดไม่สนิท (Cervical incompetence), การขาดฮอร์โมนเพศ, ความผิดปกติของโครโมโซม

4. การแท้งโดยสมบูรณ์ (Complete abortion) เป็นการแท้งทารกและรกออกมาทั้งหมดโดยสมบูรณ์ (เมื่อตรวจอัลตราซาวนด์จะไม่พบตัวอ่อน) ตามธรรมชาติแล้วการแท้งมักจะสิ้นสุดด้วยตัวเอง ร่างกายจะขับทารกและรกที่อยู่ในโพรงมดลูกออกมาจนหมด คุณแม่จะมีอาการปวดท้องและมีเลือดออกมาจนหยุดไปเอง (มีชิ้นเนื้อหลุดออกมาแล้วมีเลือดออกลดลง) จึงไม่จำเป็นต้องขูดมดลูก

5. การแท้งไม่สมบูรณ์ (Incomplete abortion) เป็นการแท้งออกมาเพียงบางส่วนของทารกหรือของรกและยังมีอีกส่วนหนึ่งที่เหลือค้างอยู่ในโพรงมดลูก ซึ่งการแท้งชนิดนี้จะทำให้มดลูกบีบตัวได้ไม่ดี คุณแม่จึงมีอาการปวดท้องน้อยมากและมีเลือดออกทางช่องคลอดมากจนทำให้ช็อกได้ แพทย์จะให้น้ำเกลือหรือให้เลือดทดแทน แล้วทำการขูดมดลูกเอาส่วนที่เหลือออกมาให้หมด เพื่อให้เลือดหยุดไหลโดยเร็วที่สุด และป้องกันการติดเชื้อในโพรงมดลูก หลังจากนั้นมดลูกจะบีบตัวได้ดีขึ้นและเลือดก็จะหยุดไปเอง

6. การแท้งค้าง (Missed abortion) เป็นการแท้งที่ทารกในครรภ์เสียชีวิตนานกว่า 8 สัปดาห์ในครรภ์แล้ว แต่คุณแม่ยังไม่ทราบว่าแท้ง เพราะตัวอ่อนยังไม่ถูกขับออกมา และอาจทราบได้จากการตรวจอัลตราซาวนด์ ตัวอ่อนและเนื้อรกที่ตายจะค้างอยู่ในโพรงมดลูกโดยที่คุณแม่ไม่แสดงอาการใด ๆ นานนับเดือนก่อนที่จะแท้งออกมา ซึ่งในช่วงที่เกิดการแท้งค้าง อาการต่าง ๆ ของการตั้งครรภ์จะหายไป และจะมีการแท้งบุตรตามมาในภายหลัง คุณแม่ตั้งครรภ์จะให้ประวัติว่าเคยมีอาการของการตั้งครรภ์และมดลูกมีขนาดโตขึ้น แล้วต่อมาอาการคลื่นไส้อาเจียนได้หายไป และสังเกตว่ามดลูกมีขนาดเล็กลง (ในบางรายอาจมีแคลเซียมมาห่อหุ้มทารกที่เสียชีวิตจนกลายเป็นก้อนหินปูนค้างอยู่ในโพรงมดลูกตลอดไปเลยก็ได้ ถ้าทิ้งไว้ก็ไม่เป็นอันตราย แต่คุณแม่จะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีก)

7. การแท้งติดเชื้อ (Septic abortion) เป็นการแท้งร่วมกับมีการอักเสบติดเชื้อ ทำให้คุณแม่มีไข้ ปวดท้อง และมีเลือดออกทางช่องคลอด