เมื่อเห็นความสำคัญของพัฒนาการของเด็กในวัยนี้แล้ว คนเป็นพ่อเป็นแม่จึงควรหันมาใส่ใจดูแลเรื่องการ “เลี้ยงลูก” ให้ดีมากขึ้น สำหรับวิธีการ “เลี้ยงลูก” ให้ถูกต้อง…

สำหรับวิธีการ “เลี้ยงลูก” ให้ถูกต้องเหมาะสมในช่วงปฐมวัย มีคำแนะนำดีๆ สำหรับพ่อแม่มือใหม่ ดังนี้
1. เข้าใจความต้องการของลูกอย่างจริงใจ
“เด็กเปรียบเสมือนผ้าขาว” วลีนี้อาจเป็นดาบสองคม เพราะพ่อแม่คงต้องเหนื่อยเกินไปถ้ามุ่งแต่คิดจะแต่งแต้มสีสันให้กับลูก มัวแต่คิดว่าจะใส่อะไรลงบนผ้าขาวผืนนี้เพื่อจะให้กลายเป็นผ้าสีที่สวยงาม หรือเป็นไปตามที่คิดให้มากที่สุด โดยไม่เข้าใจความต้องการจริงๆ ของลูก หรือการเอาบรรทัดฐานของสังคมเป็นที่ตั้ง ส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยพอใจในสิ่งที่ลูกมี กลายเป็นว่าผ้าผืนนี้ไม่ได้เป็นตัวตนของลูกอย่างแท้จริง ดังนั้นการเข้าใจธรรมชาติของเด็กเป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ควรจะมี แม้หลายครั้งที่พ่อแม่เข้าใจว่า เด็กเรียบร้อย มักเป็นเด็กที่น่ารัก ยิ้มแย้มแจ้มใส เด็กเรียนเก่ง เชื่อฟังพ่อแม่ ในขณะที่ เด็กไม่เรียบร้อย มักเป็นเด็กดื้อ ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความเข้าใจผิดของตัวพ่อแม่เองทั้งนั้น ถ้าพ่อแม่มีความคิดชุดเดียวกันว่าเด็กทุกคนต้องเรียบร้อย น่ารัก เชื่อฟัง พอลูกดื้อก็จะโกรธ ลูกไม่เรียบร้อยก็หงุดหงิด ทำให้ตัวเด็กเองเกิดความกังวล ขี้อาย ไม่กล้ายิ้มแย้มแจ่มใส พ่อแม่ก็จะทำลายตัวตนของเด็กไปเรื่อยๆ โดยไม่ยอมรับและไม่เข้าใจในสิ่งที่เขาเป็น
2. ดูแลอาหารการกินตามโภชนาการ
เด็กมีช่วงเวลาที่สมองพัฒนาอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก สิ่งที่จะช่วยให้เด็กพัฒนาอย่างเหมาะสมตามวัย คือ กินให้เป็นเป็นไปตามโภชนาการ เล่นให้สุด เพื่อกระตุ้นพัฒนาการ และไม่หยุดที่จะให้ความรักต่อลูก หรือเรียกว่าหลักการ Eat Play love กล่าวคือการสนับสนุนลูกด้วย 3 สิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อเด็กไปตลอดชีวิต
เริ่มจากอย่างแรกคือ “Eat : กินให้เป็น” โภชนาการที่ดีเป็นส่วนช่วยให้ร่างกายได้รับพลังงานและสารอาหารที่ครบถ้วน หากไม่ได้สารอาหารได้เต็มที่ ทำให้ส่วนสูงเพิ่มขึ้นน้อย เจ็บป่วยบ่อย และส่งผลกระทบต่อสติปัญญา ซึ่งเป็นการตัดต้นทุนการเรียนรู้ให้กลายเป็นคนเรียนรู้ช้า

3. ส่งเสริมให้ลูกเล่นตามวัย
“Play เล่นให้สุด” ส่งเสริมให้เด็กเล่นตามวัย ของเล่นที่สำคัญที่สุดของเด็กคือพ่อแม่ แค่เพียงมีพ่อแม่อยู่ใกล้เพื่อทำหน้าที่ชี้ชวนให้เด็กเล่น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนหรือจะมีของเล่นอื่นๆ หรือไม่ การเล่นก็สามารถเกิดได้ทุกที่ รวมไปถึงการอ่านนิทานก็เป็นการพัฒนาสมองชั้นดี เป็นช่วงเวลาที่ลูกได้นั่งตักพ่อแม่พร้อมฟังนิทานและดูรูปภาพไปด้วยกัน ลูกจะสนใจไปที่เสียงที่ได้ยิน ภาพที่ได้เห็น สมองของลูกจะจินตนาการเรื่องราวอย่างเต็มที่
สร้างกติกาง่ายๆ เช่น ให้ลูกเก็บของเล่น หรือทำความสะอาดห้อง ก่อนนะออกไปเล่นข้างนอก จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ในการวางแผนว่าจะทำอะไรก่อนหลัง และมุ่งมั่นทำงานนั้นให้เสร็จก่อนจะได้สิ่งที่ชื่นชอบในภายหลัง หรือชวนลูกหาวัสดุรอบบ้านมาประดิษฐ์เป็นของเล่น เด็กจะต้องคิดว่าอยากทำอะไร ต้องใช้วัสดุอะไรมาทำบ้าง และทดลองนำมาประกอบกันจนสำเร็จตามแผน

4. อย่าหยุดแสดงความรักต่อลูก
“Love ไม่หยุดรัก” ความรักเป็นที่สิ่งที่เด็กอยากได้มากที่สุด รากฐานที่สำคัญจริงๆ คือการสร้างตัวตนให้กับเด็กคนหนึ่งที่จะเติบโตมาแบบมั่นคงทั้งทางร่างกายและจิตใจ พ่อแม่ต้องทำให้เขาตระหนักว่า ถึงแม้เขาจะไม่เก่งแต่เขาก็ยังเป็นที่รัก ถึงแม้เขาจะล้มแต่ก็ยังมีคนคอยประคอง ถึงแม้ว่าเขาไม่มีความสุข แต่ก็จะมีคนๆ หนึ่งรออยู่ในชีวิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้เรียกว่าเป็นความรักที่ทำให้ทุกคนในครอบครัวเติบโตไปด้วยกัน เป็นพลังครอบครัวและพลังชีวิตให้กับคนที่เป็นลูกด้วย
จัดสภาพแวดล้อมให้เด็กได้ลองพยายามทำสิ่งต่างๆ ที่เหมาะสมตามวัยด้วยตัวเอง เมื่อเขาทำสำเร็จก็ให้คำชื่มชม ให้กำลังใจ สนับสนุนให้ลูกพยายามทำต่อไปแม้รู้สึกว่าสิ่งนั้นยาก แต่ไม่กดดัน หากทำไม่สำเร็จเด็กอาจผิดหวังท้อแท้ ร้องไห้ หรือโกรธ พ่อแม่ควรปลอบโยนให้กำลังใจ สุดท้ายสร้างความเชื่อมั่นในตัวลูก การได้พยายามลองผิดลองถูก จนรู้สึกถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่จำเป็นต่อพัฒนาการของเด็ก
5. เลิกอ้างว่าไม่มีเวลาให้ลูก
พ่อแม่ยุคใหม่มักอ้างว่า ‘ไม่มีเวลา’ ทำให้ปิดกั้นโอกาสการเล่นกับลูก บางคนก็ยังไม่เข้าใจว่าเพียงแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ก็สามารถช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ให้ลูกได้ รวมทั้งยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และเปิดโอกาสให้พ่อแม่ได้หัดสอนกฎ กติกา และสิ่งต่างๆ รอบตัวให้กับลูกน้อย เพื่อที่ตัวเด็กจะได้สำรวจและเลือกเล่นตามที่เขาต้องการ
เมื่อมีพ่อแม่คอยช่วยเหลือและแนะนำสนับสนุนอย่างใกล้ชิด ก็จะช่วยให้ลูกรับรู้ว่าตัวเองเป็นที่รัก เป็นที่ยอมรับ และมีค่า ได้รับรู้ว่ามีใครบางที่สามารถเชื่อใจและอยู่เคียงข้างเสมอเมื่อมีปัญหา เป็นพลังสนับสนุนให้เขาเติบโตอย่างมีคุณภาพต่อไปในอนาคต