เด็กอายุ 2 สัปดาห์ (2 Weeks Old Baby) 

พัฒนาการของเด็กอายุ 2 … และการให้นมของลูกน้อย โดยเมื่อมีอายุ 2 สัปดาห์ เด็กอ่อนจะใช้เวลาส่วนมากไปกับการนอน ประมาณ 16 ถึง 20 ชั่วโมงใน 1 วัน …

เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 2 สัปดาห์ เด็กอ่อน (Infant) ยังคงปรับตัวให้เข้ากับการใช้ชีวิตในโลกภายนอก มีพัฒนาการสำคัญที่เกิดขึ้นในด้านการมองเห็นและการได้ยิน นอกจากนี้การให้นมอย่างเพียงพอ และเฝ้าสังเกตการเกิดโรคในเด็กอ่อนยังถือเป็นสิ่งที่คุณแม่และคุณพ่อต้องใส่ใจเป็นพิเศษ แน่นอนว่าเมื่อเข้าสู่สัปดาห์นี้ คุณแม่และคุณพ่ออาจเริ่มรู้สึกเหนื่อยล้ากับอาการนอนน้อยเป็นเวลานานติดต่อกันหลายวัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ลูกน้อยยังคงต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดและความอบอุ่นจากคุณแม่และคุณพ่อ 

พัฒนาการของเด็ก 
Baby’s Development

พัฒนาการที่สำคัญในช่วงนี้จะอยู่ที่ดวงตาของเด็ก ที่เริ่มมีการมองเห็นได้ชัดขึ้น โดยเมื่อถูกกระตุ้นด้วยแสง เด็กจะมีการกระพริบตาโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้คุณแม่คุณพ่อสามารถสังเกตเห็นพัฒนาการนี้ได้เมื่อลูกน้อยเริ่มมีการให้ความสนใจกับใบหน้า อีกทั้งยังมีความพยายามในการจ้องตาของคุณแม่และคุณพ่อ ซึ่งคุณแม่คุณพ่อสามารถส่งเสริมพัฒนาการนี้ได้ด้วยการเปิดหนังสือนิทานสีขาวดำหรือหนังสือภาพสีขาวดำให้กับลูกน้อย เพื่อฝึกทักษะด้านการใช้สายตา

นอกจากนี้พัฒนาการด้านการได้ยินก็ดีมากขึ้น โดยเด็กจะสะดุ้งหรือมีการตอบสนองบางอย่างต่อเสียงที่ดัง และสามารถจำเสียงของคุณแม่และคุณพ่อได้ ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 2 สัปดาห์ คุณแม่และคุณพ่อควรพูดกับลูกน้อยให้มากขึ้น หรือลองร้องเพลงให้ลูกน้อยฟัง เพื่อให้คุ้นชินกับโทนเสียงที่ต่างกันไป

อีกหนึ่งพัฒนาการคือช่วงศีรษะของเด็กอ่อน ที่สามารถยกขึ้นได้เองแล้วเล็กน้อย แต่ยังไม่แข็งแรงนัก เมื่อลูกน้อยตื่น คุณแม่และคุณพ่อควรใช้เวลานี้ฝึกการบริหารกล้ามเนื้อช่วงบนของร่างกาย ด้วยการวางลูกน้อยแบบคว่ำลงบนพื้นเรียบที่ไม่แข็งจนเกินไป อาจเป็นพื้นพรมหรือพื้นยางสำหรับเด็กอ่อน ให้ท้องของลูกน้อยสัมผัสกับพื้น และสังเกตการขยับร่างกายของลูกน้อย หากมีการพยายามยกแขน ยกศีรษะ ก็ถือได้ว่าลูกน้อยกำลังบริหารกล้ามเนื้ออยู่นั่นเอง 

การเจริญเติบโตของเด็ก
Baby’s Growth

เมื่อลูกน้อยเข้าสู่ช่วงอายุ 2 สัปดาห์ คุณแม่คุณพ่อควรเริ่มทำการจดบันทึกน้ำหนักรวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านขนาดร่างกายของลูกน้อยเอาไว้ โดยในสัปดาห์นี้น้ำหนักของทารกที่ลดลงไปประมาณ 10 เปอร์เซนต์ในช่วงสัปดาห์แรก ควรที่จะกลับขึ้นมาเท่าน้ำหนักเดิมหลังคลอด หรือมากกว่าน้ำหนักเดิม หากน้ำหนักของลูกน้อยยังต่ำกว่าน้ำหนักเดิมหลังคลอด ควรเข้าพบกุมารแพทย์ (Pediatrician) 

คำแนะนำสำหรับการให้นม (Feeding) ลูกน้อยเพื่อให้มีการเจริญเติบโตที่เป็นไปตามเกณฑ์คือ ให้นมลูกน้อยประมาณ 8 ถึง 12 ใน 24 ชั่วโมง หากคุณแม่มีปัญหาการให้นมลูกน้อยและเปลี่ยนเป็นการให้นมผงหรืออาหารทางเลือกตามแพทย์แนะนำ ควรให้ประมาณ 6 ถึง 8 ครั้ง ใน 24 ชั่วโมง หลังการให้นมควรยกศีรษะของลูกน้อยขึ้นเล็กน้อยนานประมาณ 30 ถึง 45 นาที เพื่อป้องกันการอาเจียน

สุขภาพของเด็ก
Baby’s Health

ในช่วงนี้เด็กอ่อนยังคงเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ง่ายเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังไม่พร้อมใช้งานเต็มประสิทธิภาพ ดังนั้นคุณแม่คุณพ่อจึงควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดและพยายามทำตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  1. ไม่ให้ลูกน้อยเข้าใกล้หรือสัมผัสบุคคลที่มีอาการป่วย
  2. ไม่พาลูกน้อยไปสถานที่ที่มีผู้คนมาก เช่น โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
  3. คุณแม่และคุณพ่อควรหมั่นล้างมืออย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะหลังจากเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกน้อย
  4. ห้ามให้ใครที่อาศัยภายในบ้านสูบบุหรี่ หากมีใครที่สูบบุหรี่ขอให้สูบภายนอกบ้านห่างจากเด็กอ่อน
  5. ไม่ให้ลูกน้อยทานน้ำผึ้งหรืออาหารทางเลือกที่มีน้ำผึ้ง เนื่องจากเด็กอ่อนที่มีอายุน้อยกว่า 12 เดือน ไม่สามารถกลั่นกรองสารพิษที่มีอยู่ในน้ำผึ้งได้
  6. พยายามให้นมแม่แก่ลูกน้อยหากเป็นไปได้ เนื่องจากนมแม่มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของเด็กอ่อน

นอกจากนี้ผิวของลูกน้อยยังอาจมีอาการแห้งและลอก ซึ่งไม่มีอันตรายใดๆ แต่หากคุณแม่คุณพ่อต้องการบรรเทาอาการให้ลูกน้อย สามารถหาครีมหรือโลชั่นสำหรับเด็กอ่อนมาทาให้ลูกน้อยได้ และหากบนใบหน้าของลูกน้อยมีตุ่มนูนแดง นั่นคือสิวในทารก (Baby acne) ซึ่งเป็นหนึ่งในลักษณะของผดผื่นที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทารกอายุ 2 สัปดาห์ แต่หากคุณแม่คุณพ่อพบสิ่งผิดปกติ ก็ควรเข้าพบกุมารแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา

เคล็ดลับและเกร็ดความรู้สำหรับคุณแม่หลังคลอด
Postpartum Tips and Information

ในช่วงนี้คุณแม่และคุณพ่อจะเริ่มเข้าใจพฤติกรรมของลูกน้อยมากขึ้น คุ้นเคยกับช่วงเวลาของการตื่น การนอนหลับ และการให้นมของลูกน้อย โดยเมื่อมีอายุ 2 สัปดาห์ เด็กอ่อนจะใช้เวลาส่วนมากไปกับการนอน ประมาณ 16 ถึง 20 ชั่วโมงใน 1 วัน แต่ก็ยังเป็นการนอนหลับแบบเป็นช่วงๆ ไม่ใช่การหลับอย่างต่อเนื่องเหมือนผู้ใหญ่ เนื่องจากวงจรการนอนหลับของเด็กอ่อนยังไม่สมบูรณ์ดีนัก อย่างไรก็ตาม คุณแม่และคุณพ่อควรให้ลูกน้อยนอนในเตียงเด็กอ่อนหรือเปลของเขาเอง พยายามวางลูกน้อยลงในเตียงเด็กอ่อนขณะที่ยังสลึมสลือ แทนการวางลงขณะลูกน้อยหลับสนิทแล้ว เพื่อเป็นการฝึกให้เด็กสามารถหลับไปได้ด้วยตัวเอง จะทำให้เด็กไม่มีปัญหาการนอนหลับเมื่อโตขึ้น 

ด้านโภชนาการอาหารของเด็กอ่อนนอกจากการให้นมแม่อย่างต่อเนื่องแล้ว สถาบันกุมารเวชศาสตร์อเมริกัน (The American Academy of Pediatrics) ระบุว่าเด็กอ่อนควรได้รับ วิตามิน ดี ในปริมาณ 400 IU ต่อวัน ซึ่งกุมารแพทย์จะเป็นผู้แนะนำให้วิธีการให้วิตามินเสริมแก่คุณแม่และคุณพ่อ หากลูกน้อยงได้รับอาหารทางเลือกแทนการรับนมแม่ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องได้รับวิตามิน ดีเพิ่มเติม

ช่วงนี้ยังถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของการให้ความรัก ความอบอุ่น และสัมผัสตัวลูกน้อย ถือเป็นการสื่อสารทางการสัมผัส เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของลูกน้อย คุณแม่และคุณพ่อควรโอบกอดลูกน้อยไว้ใกล้ช่วงอก ลองนวดตัวลูกน้อยอย่างเบามือ รวมถึงจ้องตาลูกน้อยและพยายามลอกเลียนเสียงที่ลูกน้อยเปล่งออกมา แม้จะฟังดูไม่มีความหมาย แต่ก็ถือเป็นการพยายามสื่อสารกับลูกน้อย เพื่อพัฒนาไปเป็นการสร้างโทนเสียง และการสร้างคำ