กฎหมายระหว่างประเทศของสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับการทำแท้ง

ตราสารทางกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในของประเทศสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับการทำแท้ง

บทนำ

สิทธิของสตรีในการเข้าถึงบริการสุขภาพด้านการสืบพันธุ์โดยรวมไปถึงสิทธิในการทำแท้งนั้น เป็นเรื่องที่ถูกกำหนดไว้เป็นมาตรฐานในด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งได้รับรองสิทธิในชีวิตสุขภาพ ความเป็นส่วนตัว และการไม่เลือกปฏิบัติ แต่ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามาตรฐานในการกำหนดสิทธิในการทำแท้งของแต่ละประเทศทั่วโลกนั้นยังมีความแตกต่างกัน ซึ่งประเทศสมาชิก ๑๐ ประเทศในอาเซียนยังมีมาตรฐานและกฎเกณฑ์ในการอนุญาตให้ทำแท้งที่ต่างกัน หากเป็นประเทศที่การทำแท้งเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายและสามารถเข้าถึงง่ายนั้น กระบวนการทำแท้งเป็นสิ่งที่ปลอดภัยมากกว่า จึงทำให้เห็นว่าการทำแท้งที่ผิดกฎหมายนั้นไม่ได้ทำให้จำนวนการทำแท้งลดลง แต่ในทางกลับกันเป็นการทำให้ความปลอดภัยในการทำแท้งลดลง สถิติขององค์การอนามัยโลกหรือ World Health Organization (WHO) เปิดเผยว่า ในทุก ๆ ปี การทำแท้ง ๒๐ ล้านครั้งจากทั้งหมด ๔๒ ล้านครั้งนั้นผิดกฎหมายและไม่ปลอดภัย เมื่อไม่มีหนทางที่ปลอดภัยในการทำแท้ง ผู้หญิงมักจะทำแท้งโดยใช้อุปกรณ์ปลายแหลม ใช้เคมีภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย หรือขอความช่วยเหลือจากบุคคลที่ไม่มีความรู้ทางด้านการแพทย์ เป็นผลให้มีผู้หญิงเสียชีวิตจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยทุก ๆ ๑๐ นาที หรือประมาณ ๔๗,๐๐๐ คนทุกปี

เงื่อนไขในการอนุญาตให้มีการทำแท้งตามหลักสากล
ผลการสำรวจนโยบายการทำแท้งจาก ๑๙๓ ประเทศภาคีของสหประชาชาติ และจาก ๓ ประเทศที่มิได้เป็นภาคีของสหประชาชาติ (UN’s World Abortion Policies 2013) นั้น สรุปให้เห็นถึงข้อกฎหมายที่อนุญาตให้ทำแท้ง โดยปรากฎข้อเท็จจริงว่าในปัจจุบันมีบางประเทศที่อนุญาตให้สามารถทำแท้งได้ในทุกกรณี เช่น ประเทศในทวีปอเมริกา เช่น แคนาดา เม็กซิโก หรือประเทศในทวีปยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี รวมถึงประเทศในทวีปเอเชีย เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม เนปาล เป็นต้น อย่างไรก็ตาม บางประเทศยังคงอนุญาตให้ทำแท้งได้เฉพาะบางกรณีเท่านั้น โดยเงื่อนไขของแต่ละประเทศกำหนดกฎเกณฑ์ให้อนุญาตทำแท้งในกรณีดังต่อไปนี้

๑.      เพื่อรักษาชีวิตของหญิงซึ่งตั้งครรภ์
๒.      เพื่อรักษาสุขภาพทางกายของหญิงซึ่งตั้งครรภ์
๓.      เพื่อรักษาสุขภาพทางจิตของหญิงซึ่งตั้งครรภ์
๔.      ในกรณีที่การตั้งครรภ์เกิดจากการถูกข่มขืนกระทำชำเรา หรือเกิดจากการร่วมรักระหว่างพี่น้องสายเลือดเดียวกัน
๕.      เนื่องจากความบกพร่องของทารกในครรภ์
๖.      เพื่อเหตุผลทางเศรษฐกิจหรือเหตุผลทางสังคม
๗.      ตามที่หญิงซึ่งตั้งครรภ์นั้นเรียกร้อง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแต่ละประเทศจะมีหลักเกณฑ์อนุญาตให้ทำแท้งแตกต่างกันออกไป แต่หลักเกณฑ์ภายใต้กฎหมายอาญาทั่วไปภายใต้หลักความจำเป็น (principles of necessity) ให้การทำแท้งสามารถทำได้เพื่อรักษาชีวิตของหญิงซึ่งตั้งครรภ์เสมอ



ตราสารทางกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง
กฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้งโดยตรงยังไม่มีในปัจจุบัน แต่มีสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนภายใต้สหประชาชาติจำนวน ๖ ฉบับที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการทำแท้งดังต่อไปนี้

๑.  อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women – CEDAW)
๒.  อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child – CRC)
๓.  กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR)
๔.  กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economics, Social and Cultural Rights – ICESCR)
๕.  อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (International Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination – CERD)
๖.  อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture, and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment – CAT)

กฎหมายของประเทศสมาชิกอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง

๑. บรูไนดารุสซาลาม
บรูไนดารุสซาลามเป็นภาคีของ CEDAW, CRC และ CAT
มาตรา ๓๑๒-๓๑๖ แห่งประมวลกฎหมายอาญาของบรูไนฯ ได้บัญญัติห้ามการทำแท้งโดยเด็ดขาด โดยอนุญาตให้ทำแท้งได้เพียงกรณีเดียวคือ การทำแท้งเพื่อรักษาชีวิตของหญิงซึ่งต้องมีเหตุผลที่สุจริตด้วย การทำแท้งที่ฝ่าฝืนกฎหมายโดยหญิงซึ่งตั้งครรภ์ยินยอม ผู้ฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษจำคุกสูงสุด ๓ ปี หรือได้รับโทษปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าหากผู้ใดทำแท้งโดยหญิงนั้น “quick with child” ผู้ที่ทำแท้งต้องรับโทษจำคุกสูงสุด ๗ ปี และได้รับโทษปรับ และถึงแม้ว่าหญิงนั้น จะทำแท้งด้วยตนเองก็อาจได้รับโทษเท่ากัน
หากผู้ใดทำแท้งโดยไม่ได้รับความยินยอมจากหญิงต้องได้รับโทษจำคุกสูงสุด ๑๐ ปีหรือโทษปรับ ไม่ว่าจะตั้งครรภ์ในระยะใดก็ตาม ในกรณีที่หญิงยินยอม ถ้าหากทำแท้งโดยทำให้หญิงเสียชีวิตอาจต้องรับโทษจำคุกสูงสุด ๑๐ ปี หรือในกรณีที่หญิงไม่ยินยอมอาจต้องรับโทษจำคุกสูงสุด ๑๕ ปี

๒. กัมพูชา
กัมพูชาเป็นภาคีของสนธิสัญญาทั้ง ๖ ฉบับข้างต้น
แต่เดิมนั้น กัมพูชาเป็นเมืองขึ้นของประเทศฝรั่งเศส จึงได้รับอิทธิพลจากประเทศฝรั่งเศสค่อนข้างมาก โดยประมวลกฎหมายอาญาฝรั่งเศสไม่ได้มีบทบัญญัติในด้านการทำแท้งหรือลงโทษการกระทำดังกล่าวแต่อย่างใด
ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ไม่มีบทลงโทษใด ๆ ในการทำแท้ง และไม่มีขั้นตอน วิธีการ หรือมาตรการใด ๆ ในการควบคุมการทำแท้ง จึงทำให้มีการทำแท้งอย่างแพร่หลาย รัฐบาลกัมพูชาจึงได้ตระหนักถึงความสำคัญในการมีกฎหมายเพื่อควบคุมการทำแท้งเพื่อลดอัตราของการเสียชีวิตจากการทำแท้ง
ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยการทำแท้ง (Kram on Abortion) ที่ตราขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ หญิงซี่งตั้งครรภ์สามารถเรียกร้องให้ทำแท้งได้ในช่วง ๑๒ สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ หากพ้นช่วงเวลาดังกล่าว หญิงจะสามารถทำแท้งได้ในกรณีดังต่อไปนี้
          (๑)   เมื่อมีโอกาสที่ทารกในครรภ์จะพัฒนาอย่างผิดปกติ หรือหากการตั้งครรภ์จะเป็นอันตรายต่อชีวิตของหญิงนั้น
          (๒)   หากทารกที่จะเกิดมีโอกาสที่จะมีหรือเป็น “โรคที่ไม่สามารถรักษาได้”
          (๓)   หากการตั้งครรภ์เป็นผลเนื่องมาจากการถูกข่มขืน
ในกรณีดังกล่าวข้างต้น การทำแท้งจะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจำนวน ๒ ถึง ๓ คน และหมอหรือผู้ช่วยทางการแพทย์เท่านั้นที่สามารถเป็นผู้ทำแท้งได้ โดยจะต้องได้รับความยิมยอมจากหญิงซึ่งตั้งครรภ์ พร้อมทั้งต้องารถตั้งครรภ์ได้อีกรอบ่โรงพยาบาลจำนวน ๒ ถึง ๓ คนตาม อธิบายให้หญิงดังกล่าวเข้าใจถึงผลกระทบในการทำแท้งที่อาจเกิดขึ้น และระยะเวลาที่ต้องเว้นช่วงไว้ก่อนที่จะสามารถตั้งครรภ์ได้อีกรอบ การทำแท้งจะต้องทำในโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลต่าง ๆ ที่ผ่านการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขของกัมพูชา โดยหากผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายข้างต้น อาจโดนตักเตือน ปรับ หรือจำคุก แล้วแต่กรณี
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริการด้านสุขภาพของกัมพูชายังไม่พัฒนาไปไกลมากนัก อีกทั้งประชากรส่วนใหญ่ของกัมพูชายังไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้ ปัจจุบันจึงอาจยังมีปัญหาด้านการทำแท้งที่ผิดกฎหมายและไม่ปลอดภัยเกิดขึ้น และจำเป็นต้องพัฒนาต่อไป


๓. อินโดนีเซีย
อินโดนีเซียเป็นภาคีของสนธิสัญญาทั้ง ๖ ฉบับข้างต้น
ประมวลกฎหมายอาญาของอินโดนีเซียได้รับอิทธิพลมาจากประมวลกฎหมายอาญาของเนเธอร์แลนด์ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ โดยได้กำหนดเงื่อนไขการทำแท้งที่จำกัดอย่างมากและไม่อนุญาตให้ทำแท้งในทุกกรณี หากผู้ใดฝ่าฝืนจะทำให้ต้องรับโทษจำคุกเป็นระยะเวลา ๖ ปีครึ่ง ดังนั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ รัฐบาลอินโดนีเซียจึงได้ตระหนักถึงปัญหาเรื่องการทำแท้งที่ผิดกฎหมายที่มีเสมอมา จึงได้บัญญัติกฎหมายสุขภาพฉบับที่ ๒๓/๑๙๙๒ ซึ่งมีการกล่าวถึงการทำแท้งโดยตรง แต่ถึงกระนั้น กฎหมายดังกล่าวยังคงมีข้อจำกัดโดยอนุญาตให้ทำแท้งได้เฉพาะในกรณีที่เป็นอันตรายต่อชีวิตหญิงซึ่งตั้งครรภ์หรือเป็นอันตรายต่อทารก อีกทั้งการทำแท้งนั้นจะต้องมีเงื่อนไขเพิ่มเติมดังนี้
          (๑)   ต้องมีสัญญาณทางการแพทย์บ่งบอกซึ่งบังคับให้เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพจำเป็นต้องทำแท้ง
          (๒)   การทำแท้งต้องทำโดยเจ้าหน้าที่หรือแพทย์ซึ่งมีความชำนาญ
          (๓)   จะต้องได้รับความยินยอมจากหญิงซึ่งตั้งครรภ์ สามีของหญิง หรือสมาชิกในครอบครัวของหญิงนั้น
          (๔)   สามารถทำแท้งได้ที่สถานพยาบาลบางแห่งเท่านั้น
เงื่อนไขตามข้อ (๓) ข้างต้น ระบุให้สามีหรือสมาชิกในครอบครัวจะต้องให้ความยินยอมเฉพาะในกรณีที่หญิงนั้นไม่มีสติสัมปชัญญะ หรือไม่อยู่ในสภาพที่หญิงนั้นจะให้ความยินยอมได้
แม้จะมีกฎหมายซึ่งจำกัดสิทธิในการทำแท้งดังกล่าว แต่การบังคับใช้กฎหมายให้เกิดผลในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยาก เนื่องจากกฎหมายนี้มีข้อจำกัดอยู่มาก ส่งผลให้ผู้หญิงอินโดนีเซียที่ประสงค์จะทำแท้งต้องไปทำที่อื่น เป็นเหตุให้เกิดการเสียชีวิตและการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยและไม่ถูกสุขอนามัยสูง

๔. ลาว
ลาวเป็นภาคีของสนธิสัญญาทั้ง ๖ ฉบับข้างต้น

ประมวลกฎหมายของประเทศลาวได้บัญญัติให้การทำแท้งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายโดยเด็ดขาด ไม่มีข้อยกเว้น หากผู้ใดทำแท้งให้หญิงซึ่งตั้งครรภ์ จะต้องได้รับโทษจำคุก ๒ ปีถึง ๕ ปี และหากการกระทำนั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพของหญิงหรือทำให้หญิงนั้นเสียชีวิตจะต้องได้รับโทษจำคุก ๕ ปีถึง ๑๐ ปี ส่วนกรณีของหญิงซึ่งทำแท้งนั้น หากให้ผู้อื่นทำแท้งให้หรือทำแท้งด้วยตนเอง จะต้องได้รับโทษจำคุก ๓ เดือนถึง ๓ ปี

๕. มาเลเซีย
มาเลเซียเป็นภาคีของ CEDAW และ CRC เพียง ๒ ฉบับเท่านั้น
แต่เดิมก่อนปี พ.ศ. ๒๕๓๒ มาตรา ๓๑๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญาของมาเลเซีย บัญญัติอนุญาตให้มีการทำแท้งได้ในกรณีเดียว คือ เพื่อรักษาชีวิตของหญิงซึ่งตั้งครรภ์ แต่ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของกฎหมายโดยอนุญาตให้ทำแท้งได้ในกรณีที่แพทย์มีความเห็นโดยสุจริตว่าการตั้งครรภ์ต่อไปจะเป็นเหตุให้หญิงนั้นได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต หรือหญิงซึ่งตั้งครรภ์นั้นจะได้รับผลกระทบทางจิตใจหรือร่างกายมากกว่าการทำแท้ง
หากผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๑๒-๓๑๔ ที่แก้ไขใหม่นี้จะต้องได้รับโทษดังต่อไปนี้
          (๑)   ในกรณีที่หญิงนั้น “quick with child” โดยหญิงซึ่งตั้งครรภ์นั้นยินยอม ทั้งผู้ทำแท้งและหญิงซึ่งตั้งครรภ์นั้นจะต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน ๗ ปี หรือโทษปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ
          (๒)   ในกรณีที่หญิงนั้นไม่ได้ “quick with child” โดยหญิงซึ่งตั้งครรภ์นั้นยินยอม ทั้งผู้ทำแท้งและหญิงซึ่งตั้งครรภ์นั้นจะต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน ๓ ปี หรือโทษปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ
          (๓)   ในกรณีที่หญิงซึ่งตั้งครรภ์นั้นไม่ยิมยอม ไม่ว่าครรภ์จะอยู่ในระยะใดก็ตาม ผู้ทำแท้งจะต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน ๒๐ ปี หรือโทษปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ
          (๔)   ในกรณีที่หญิงเสียชีวิตจากการทำแท้ง โดยหญิงนั้นยินยอม ผู้ทำแท้งจะต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน ๑๐ ปี หรือโทษปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ
          (๕)   ในกรณีที่หญิงเสียชีวิตจากการทำแท้ง โดยหญิงนั้นมิได้ยินยอม ผู้ทำแท้งจะต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน ๒๐ ปี



๖. เมียนมา

เมียนมาเป็นภาคีของ CEDAW และ CRC และได้ลงนามใน ICESCR ซึ่งส่งผลให้เมียนมาไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายกับตราสารระหว่างประเทศดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามในฐานะของรัฐผู้ได้ลงนามในตราสาร เมียนมาก็มีหน้าที่ไม่กระทำการใดที่จะเป็นการขัดกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายของตราสาร

มาตรา ๓๑๒-๓๑๖ แห่งประมวลกฎหมายอาญาของเมียนมา ได้บัญญัติเรื่องการทำแท้งไว้โดยไม่อนุญาตให้ทำแท้งในทุกกรณี มีเพียงข้อยกเว้นในกรณีที่เป็นอันตรายแก่ชีวิตของหญิงซึ่งตั้งครรภ์ ผู้ฝ่าฝืนบทกฎหมาย ดังกล่าวจะต้องได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนด

๗. ฟิลิปปินส์
ฟิลิปปินส์เป็นภาคีของสนธิสัญญาทั้ง ๖ ฉบับข้างต้น
การทำแท้งในฟิลิปปินส์เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น หากฝ่าฝืนบทกฎหมายดังกล่าวจะต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้
ถึงแม้ว่าบทลงโทษของกฎหมายจะหนักแต่การทำแท้งนั้นมีอยู่ทั่วไปในฟิลิปปินส์โดยถือเป็นวิธีการหนึ่งในการคุมกำเนิดและมักจะไม่ถูกดำเนินคดี ผลการสำรวจเผยว่าหญิงที่จำเป็นต้องทำแท้งนั้น มักเป็นหญิงซึ่งมีสถานะทางสังคมต่ำและจำเป็นต้องทำแท้งเนื่องจากไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ โดยรัฐบาลฟิลิปปินส์มีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับการทำแท้งและหวังจะลดการทำแท้งที่ผิดกฎหมายให้น้อยลงโดยการส่งเสริมให้มีกิจกรรมการวางแผนครอบครัวและส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูล ทั้งด้านบริการการศึกษาและการสื่อสารให้แพร่หลายยิ่งขึ้น

๘. สิงคโปร์
สิงคโปร์เป็นภาคีของ CEDAW และ CRC และได้ลงนามใน CERD ซึ่งมีหน้าที่ไม่กระทำการใดที่จะเป็นการขัดกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายของตราสารดังที่ได้กล่าวถึงแล้วในกรณีของเมียนมา
ตราบใดที่หญิงนั้นตั้งครรภ์ไม่เกิน ๒๔ สัปดาห์และมีเหตุผลทางสังคมไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุทางการเงิน หรือผู้หญิงซึ่งตั้งครรภ์นั้นมีอายุน้อยเกินกว่าที่จะมีบุตรได้ หรือผู้หญิงซึ่งตั้งครรภ์ไม่อาจทนได้หากมีบุตร/เลี้ยงบุตรเพิ่มได้เนื่องจากจะทำให้ครอบครัวมีปัญหาเพิ่ม ถือว่าสามารถทำแท้งได้โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่จะต้องได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากหญิงนั้นและต้องทำโดยแพทย์ที่ได้รับการรับรองจากรัฐ หญิงที่เป็นคนต่างชาติและหญิงซึ่งอยู่ในสิงคโปร์เป็นเวลาน้อยกว่า ๔ เดือนจะทำแท้งได้เฉพาะในโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้น โดยสิทธิทำแท้งในโรงพยาบาลของรัฐสงวนไว้เพื่อประชาชนชาวสิงคโปร์ ภรรยาของคนสัญชาติสิงคโปร์ หรือหญิงซึ่งอยู่ในสิงคโปร์เป็นเวลาตั้งแต่ ๔ เดือนขึ้นไปเท่านั้น
นอกจากนี้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการทำแท้ง พ.ศ. ๒๕๑๗ (ประมวลกฎหมายอาญา บทที่ ๑๑๙ มาตรา ๓๑๒-๓๑๖) ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเลขที่ ๑๒ ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ กำหนดให้หญิงซึ่งตั้งครรภ์นั้นจำเป็นต้องได้รับคำปรึกษาจากผู้ให้คำปรึกษาซึ่งรัฐรับรอง และต้องให้เวลาเพิ่มเติมอีก ๔๘ ชั่วโมงก่อนจึงจะสามารถทำแท้งได้ แม้แต่หญิงซึ่งมีอายุไม่เกิน ๑๖ ปี ก็มีสิทธิได้รับบริการทำแท้งได้โดยไม่ต้องรับความยินยอมจากชายซึ่งทำให้ตั้งครรภ์แต่อย่างใด ทั้งนี้ภายใต้กฎหมายสิงคโปร์ การมีเพศสัมพันธ์กับหญิงซึ่งมีอายุไม่เกิน ๑๖ ปีนั้นถือว่าเป็นการข่มขืนใจหญิงไม่ว่าหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่

๙. ไทย
ไทยเป็นภาคีของสนธิสัญญาทั้ง ๖ ฉบับข้างต้น
บทกฎหมายเรื่องการทำแท้งในไทยปรากฏอยู่ในมาตรา ๓๐๑-๓๐๕ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายอาญาของไทยได้กำหนดห้ามทำแท้งไว้ อย่างไรก็ตาม มาตรา ๓๐๕ บัญญัติข้อยกเว้นของหลักทั่วไปดังกล่าวไว้ โดยระบุว่าการทำแท้งนั้นต้องเป็นการกระทำของนายแพทย์ และ
          (๑)   จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น หรือ
          (๒)   หญิงมีครรภ์เนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗๖ มาตรา ๒๘๒ มาตรา ๒๘๓ หรือมาตรา ๒๘๔ (ความผิดเกี่ยวกับเพศ)
ข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามมาตรา ๓๐๕ แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๔๘ ข้อ ๕  ได้ตีความคำว่า “สุขภาพ” ตามมาตรา ๓๐๕ (๑) ออกเป็นสุขภาพทางกายและสุขภาพทางจิต ซึ่งการจะยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามข้อบังคับนี้ได้ ต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่ชัดเจนว่าหญิงนั้นมีปัญหาสุขภาพทางกายหรือทางจิตและต้องมีการบันทึกการตรวจและวินิจฉัยโรคไว้ในเวชระเบียนเพื่อเป็นหลักฐานอีกด้วย
แต่ในทางปฏิบัตินั้นไม่ได้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเนื่องจากการสำรวจโรงพยาบาลทั้งที่อยู่ในสังกัดและไม่ได้อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน ๒๔ แห่งในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ พบว่าข้อมูลการทำแท้งแบ่งออกเป็นการทำแท้งเองร้อยละ ๕๖.๙ ขอให้บุคคลอื่นทำแท้งให้ร้อยละ ๔๓.๑ โดยสาเหตุการทำแท้งมาจากเหตุผลด้านสุขภาพร้อยละ ๓๗.๔ และเหตุผลด้านเศรษฐกิจ สังคม และครอบครัวร้อยละ ๒๘.๖ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ไทยได้ตราพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. ๒๕๕๙ ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยให้เด็กและเยาวชนได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อรู้และเข้าใจถึงเพศวิถีศึกษา การเข้าถึงบริการอนามัย การเจริญพันธุ์และสวัสดิการสังคม



๑๐. เวียดนาม
เวียดนามเป็นภาคีของสนธิสัญญาทั้ง ๖ ฉบับข้างต้น
“รัฐธรรมนูญของเวียดนามบัญญัติให้ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกันในทุกด้านและทุกสถานการณ์เช่นด้านการเจริญพันธุ์ โดยรัฐ สังคม ครอบครัวและประชาชนมีหน้าที่ร่วมกันในการสนับสนุนให้มีการดูแลทางด้านสุขภาพและการป้องกันให้แก่มารดาและเด็ก และทำตามแผนประชากรและการวางแผนครอบครัว”
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ องค์ประชุมแห่งชาติเวียดนามได้ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการสมรสและครอบครัว ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของหลักการ ๔ ประการกล่าวคือ เสรีภาพในการสมรส การมีภรรยาหรือสามีคนเดียว ความเท่าเทียมทางเพศ และการป้องกันสิทธิของสตรีและเด็ก และภายในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ กฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันสุขภาพของประชาชนก็ได้ผ่านการรับรองและมีผลบังคับใช้ โดยยืนยันถึงสิทธิของประชาชนด้านกระบวนการคุมกำเนิด นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้ “สตรีมีสิทธิได้รับการทำแท้ง การวินิจฉัย และการรักษาด้านนรีเวช สามารถตรวจสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์ได้ และได้รับบริการทางการแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อทำคลอด”
กฎหมายเวียดนามหลายฉบับได้ระบุอย่างชัดเจนถึงสิทธิในการทำแท้ง เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันสุขภาพของประชาชนได้ระบุอย่างชัดเจนให้ “สตรีมีสิทธิได้รับการทำแท้งหากสตรีนั้นต้องการ” โดยมีองค์ประชุมใหญ่สรุปว่ารัฐมีหน้าที่ต้องให้บริการสุขภาพประชาชนด้านการทำแท้ง รวมถึงการคุมกำเนิดโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายให้แก่บุคคลซึ่งทำงานให้รัฐ บุคคลซึ่งได้รับสิทธิตามนโยบายของรัฐ และบุคคลซึ่งมีฐานะยากจนที่ลงทะเบียนด้านการวางแผนครอบครัว และที่สำคัญที่สุด ประมวลกฎหมายอาญาของเวียดนามไม่มีบทบัญญัติใด ๆ ทั้งสิ้นเกี่ยวกับการทำแท้ง ซึ่งเป็นหลักฐานที่ดีที่สุดว่ากระบวนการทำแท้งนั้นไม่ใช่ความผิดทางอาญาแต่อย่างใด

บทสรุป
 สิ่งที่เห็นได้ชัดจากบทกฎหมายของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน ๑๐ ประเทศ คือความหลากหลายของเงื่อนไขที่อนุญาตให้ทำแท้ง กล่าวคือ มีประเทศที่อนุญาตให้ทำแท้งทุกกรณีอย่างกัมพูชา สิงคโปร์ และเวียดนาม ไปจนถึงประเทศที่ไม่อนุญาตให้ทำแท้งอย่างเคร่งครัดอย่างบรูไนฯ ลาว และเมียนมา จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเป็นที่ประจักษ์ว่าประเทศสมาชิกในอาเซียนบางประเทศยังไม่ได้ปฏิบัติตามพันธกรณีที่ตนเองมีต่อตราสารทางกฎหมายระหว่างประเทศที่ตนเองให้สัตยาบันหรือภาคยานุวัติไว้ ซึ่งจะทำให้นานาประเทศมองว่าประเทศสมาชิกในอาเซียนไม่ให้ความเคารพแก่กฎหมาย ดังนั้นจึงควรมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายของแต่ละประเทศให้มีความสอดคล้องกับหน้าที่และพันธกรณีที่มีต่อสนธิสัญญาแต่ละฉบับ
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ ทุกประเทศสมาชิกในอาเซียนเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ซึ่งบัญญัติให้รัฐภาคี “ตกลงที่จะติดตามนโยบายเกี่ยวกับการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีโดยวิธีที่เหมาะสมทุกประการและโดยไม่ชักช้า” และรัฐภาคีจำต้อง “ใช้มาตรการที่เหมาะสมทุกอย่าง เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในด้านการรักษาสุขภาพเพื่อประกันการมีโอกาสได้รับการบริการในการรักษาสุขภาพ รวมทั้งบริการที่เกี่ยวกับการวางแผนครอบครัวบนพื้นฐานของความเสมอภาคของบุรุษและสตรี” ทั้งนี้ การมีข้อจำกัดด้านการทำแท้งถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีที่ประเทศมีต่อ CEDAW
จึงมีควรมีการแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมต่อไป