ทำแท้ง อันตรายอย่างไร ไม่จำเป็นอย่าเสี่ยง

ควรหรือไม่กับการทำแท้ง ยังคงเป็นปัญหาที่โต้แย้งกันในสังคมไทย การทำแท้งจากการท้องไม่พร้อมถือว่าผิดกฎหมาย แต่ก็ยังมีบริการทำแท้งเถื่อนที่เสี่ยงอันตรายสูงเปิดให้เห็นเป็นจำนวนมาก

ทำแท้ง

จากการคาดการณ์อุบัติการณ์ของการทำแท้ง หรือการยุติการตั้งครรภ์ก่อนคลอดทั่วโลกในปี 2010-2014 เผยแพร่โดยสถาบัน Guttmacher ซึ่งเป็นองค์กรที่ศึกษาและวางแผนเกี่ยวกับสุขภาพทางเพศและการเจริญพันธุ์แห่งสหรัฐอเมริกา พบว่ามีการทำแท้งเกิดขึ้นทั้งหมด 56.3 ล้านครั้ง ในจำนวนนี้เป็นการทำแท้งในประเทศที่พัฒนาแล้ว 6.7 ล้านครั้ง และในประเทศกำลังพัฒนาถึง 49.6 ล้านครั้ง

สำหรับในประเทศไทย ยังมีข้อจำกัดในการทำแท้ง หญิงตั้งครรภ์จะสามารถทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมายก็ต่อเมื่อแพทย์ลงความเห็นว่ามีความจำเป็นเท่านั้น นั่นคือเสี่ยงต่อสุขภาพของแม่ ซึ่งหากไม่ทำแท้งอาจทำให้แม่เกิดอันตรายถึงชีวิต ผู้เป็นแม่มีอาการผิดปกติทางจิต หรือกรณีตั้งครรภ์จากการถูกกระทำชำเรา เช่น ถูกข่มขืนหรือการมีเพศสัมพันธ์ในเชื้อสายเดียวกัน ซึ่งต้องให้แพทย์ในโรงพยาบาลที่ถูกกฎหมายเป็นผู้ดำเนินการเท่านั้น

ในโรงพยาบาลที่ถูกกฎหมาย ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลและรักษาพยาบาลก่อนและหลังทำแท้ง โดยมีการตรวจร่างกาย ตรวจทางห้องปฏิบัติการ และให้ความรู้เกี่ยวกับการยุติครรภ์ วิธีการดูแลตัวเอง ไปจนถึงวิธีติดตามสังเกตอาการของตนเองเพื่อกลับมาพบแพทย์อีกครั้ง ซึ่งวิธีการทำแท้งในบทความนี้มีไว้เฉพาะเพื่อให้ข้อมูลการทำแท้งโดยแพทย์ที่ถูกกฎหมายในกรณีที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

วิธีการทำแท้ง หรือยุติการตั้งครรภ์มี 2 วิธีหลักด้วยกัน ได้แก่ การใช้ยา และวิธีการที่มีหัตถการทางการแพทย์ร่วมด้วยโดยการดูดหรือขูดมดลูก

ทำแท้งด้วยการใช้ยา

การใช้ยาช่วยให้แท้งจะทำได้เมื่อผู้เป็นแม่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 9 สัปดาห์ โดยยาที่ใช้จะช่วยให้ปากมดลูกนิ่มและเปิดออก กระตุ้นการหดตัวของมดลูก ซึ่งเป็นยาควบคุมพิเศษ สั่งจ่ายได้เฉพาะในโรงพยาบาลโดยแพทย์เท่านั้น

ทำแท้งโดยมีหัตถการทางแพทย์ร่วมด้วย

แพทย์อาจดูดมดลูกด้วยเครื่องดูดสุญญากาศ หรือใช้วิธีขยายและขูดมดลูก ซึ่งวิธีการในแต่ละอายุครรภ์ก็แตกต่างกันไป ดังนี้

  • ไตรมาสแรก (อายุครรภ์ 5-12 สัปดาห์แรก) ใช้เครื่องมือสุญญากาศดูดมดลูก (Manual or Machine Vacuum Aspiration) วิธีนี้อาจใช้มือถือเครื่องมือหรือเครื่องมืออัตโนมัติก็ได้ โดยดูดเนื้อเยื่อในมดลูกออกมาผ่านท่อเล็ก ๆ
  • ไตรมาสที่สอง (สัปดาห์ที่ 12-24) ใช้วิธีการขยายปากมดลูกและขูดมดลูก (Dilation and Evacuation) และมักใช้เครื่องดูดสุญญากาศร่วมด้วย การใช้วิธีนี้กับครรภ์ในไตรมาสที่ 2 จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้น้อยกว่าการใช้ยาที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ในระยะนี้ แพทย์จะเลือกใช้ยาก็ต่อเมื่อตัวอ่อนในครรภ์มีความผิดปกติหรือเกิดปัญหาร้ายแรงเท่านั้น

อันตรายจากการทำแท้ง

การทำแท้งตามเงื่อนไขที่กฎหมายรับรองนั้นทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จะมีขั้นตอนกระบวนการดูแลอย่างใกล้ชิด พบว่าน้อยกว่า 1 ใน 100 ของหญิงที่ทำแท้งจะเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือปัญหาร้ายแรง เช่น มดลูกอักเสบติดเชื้อ ตกเลือดมาก ซึ่งหลังการทำแท้ง หากสังเกตได้ถึงอาการต่อไปนี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • ภาวะเลือดออกรุนแรง ได้แก่
    • มีลิ่มเลือดขนาดใหญ่กว่าลูกกอล์ฟขับออกมานานกว่า 2 ชั่วโมง
    • มีเลือดออกเต็มแผ่นผ้าอนามัยที่รองไว้ภายในชั่วโมงเดียวถึง 2 แผ่น ต่อเนื่องนาน 2 ชั่วโมง
    • มีเลือดออกมากติดต่อกันใน 12 ชั่วโมง
  • มีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น ไข้สูง ตกขาวมีกลิ่นเหม็น
  • ปวดรุนแรงบริเวณท้องจนไม่อาจบรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวด การพัก หรือความร้อนได้
  • เหนื่อยเพลียมาก คลื่นไส้ วิงเวียน

การทำแท้งที่กล่าวไปข้างต้นไม่มีผลใด ๆ ต่อการตั้งครรภ์ใหม่ในอนาคต แต่มีข้อควรระวังคือ ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าร่างกายจะฟื้นตัวเต็มที่ ซึ่งจะใช้เวลาอย่างต่ำ 1-3 สัปดาห์

ทำแท้งเถื่อน เสี่ยงถึงชีวิต

สิ่งที่การทำแท้งเถื่อนไม่อาจรับประกันได้เลยก็คือความปลอดภัย การทำแท้งที่ไม่ได้กระทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและอุปกรณ์ที่เหมาะสม สามารถส่งผลให้เกิดอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนดังนี้

  • ทำแท้งไม่สำเร็จ ไม่สามารถขับเอาเนื้อเยื่อของครรภ์ออกมาจากมดลูกได้หมด
  • มีอาการตกเลือด หรือเลือดออกมาก
  • เกิดภาวะติดเชื้อ
  • มดลูกทะลุจากการวัตถุมีคม
  • อันตรายต่อระบบสืบพันธ์ุและอวัยวะภายในจากการสอดใส่วัตถุอันตรายในการทำแท้ง เช่น ไม้ เข็มถักไหมพรม หรือเศษแก้วแตกไปยังช่องคลอดหรือทวารหนัก

การป้องกันและการควบคุม

ปัญหาท้องไม่พร้อม ท้องก่อนวัยอันควร นำไปสู่การทำแท้งตามคลินิกเถื่อนหรือการสั่งซื้อยามารับประทานเอง ซึ่งไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ปลอดภัย ไม่ควรเสี่ยงชีวิตเป็นอย่างยิ่ง คุณแม่ที่ท้องไม่พร้อมควรให้เวลากับตัวเอง ตั้งสติและคิดทบทวนถึงผลลัพธ์ให้ดีก่อนตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม ทางออกของปัญหาไม่ได้มีแค่วิธีเดียว ทางเลือกหนึ่งที่แนะนำ คือการขอความช่วยเหลือจากองค์กรและโครงการต่าง ๆ ที่คอยช่วยเหลือ และให้คำปรึกษาปัญหา เช่น สายด่วน 1663 ปรึกษาปัญหาเอดส์และท้องไม่พร้อม เป็นต้น

ปัญหาการทำแท้งสามารถป้องกันได้ หากมีการศึกษาในเรื่องเพศที่ดีมากขึ้นในสังคม ป้องกันการท้องโดยการใช้ยาคุมกำเนิด การใช้ยาคุมฉุกเฉิน และการใช้ถุงยางอนามัย เป็นต้น