เด็กขาดน้ำน้อย อาการคือ ฉี่น้อยลง ลูกน้อยดูปกติดี เด็กขาดน้ำปานกลาง อาการคือ ลูกเริ่มกระสับกระสาย กระหม่อมหรือตาบุ๋มเล็กน้อย ปากแห้ง หัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบลึก..
สัญญาณอันตราย ทารกแรกเกิดมีอาการแบบนี้
รีบพามาพบคุณหมอด่วน!
- ตัวเหลืองมาก
- ตัวร้อน มีไข้ ซึม
- หายใจเร็วมากกว่า 60 ครั้ง/นาที หรือหายใจหอบ
- มีอาการบวม แดง มีหนองที่สะดือ ตา หรือผิวหนัง
- ไม่ยอมดูดนม
- ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ หรือมีมูกเลือดปน
- ท้องอืด หรืออาเจียนหลังให้นมทุกหรือ / อาเจียนมีสีเขียวหรือสีเหลืองปน
- ไม่ถ่าย ไม่ปัสสาวะเลยใน 24 ชั่วโมง

คำแนะนำก่อนรับทารกแรกเกิดกลับบ้าน
- มาตรวจตามนัด
คุณพ่อคุณแม่ ควรพาลูกมาพบแพทย์เพื่อตรวจตามวันนัดหมาย ที่สถาบันกุมารเวช หากลูกมีอาการผิดปกติ เช่น ตัวเหลือง มีไข้ ซึมลง ไม่ดูดนม ท้องเสีย ท้องอืด ไม่ดูดนม อาเจียน ถ่ายเหลว ถ่ายมีมูกเลือดปน ให้รีบพามาพบแพทย์ก่อนวันนัด
- สมุดบันทึกสุขภาพ
ลูกน้อยจะมีสมุดบันทึกสุขภาพประจำตัว เพื่อบันทึกเกี่ยวกับข้อมูลต่างๆ ได้แก่ วันเดือนปีเกิด เวลาเกิด น้ำหนัก ส่วนสูง กรุ๊ปเลือด และประวัติการรับวัคซีน รวมถึงคำแนะนำเกี่ยวกับการให้อาหารเสริม พัฒนาการของทารกในแต่ละวัย คุณพ่อคุณแม่ควรอ่านรายละเอียดในสมุดบันทึกสุขภาพ และควรนำมาด้วยทุกครั้งที่มาพบแพทย์
- การฉีดวัคซีน
ทารกแรกเกิดได้รับวัคซีนแล้ว 2 ชนิด คือ วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG) และวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B) เข็มที่ 1
สำหรับวัคซีนป้องกันวัณโรคจะฉีดที่ “ต้นแขนซ้าย” การฉีดที่ได้ผลเมื่อทารกอายุประมาณ 3-4 สัปดาห์ จะเห็นเป็นตุ่มแดงนูน บริเวณที่ฉีดอาจมีหนองหรือไม่มีก็ได้ ถ้ามีหนองแตกออก ให้เช็ดทำความสะอาดผิวหนังบริเวณนั้นให้สะอาดด้วยสำลีชุบน้ำต้มสุก ไม่จำเป็นต้องใส่ยาใดๆ ตุ่มนี้จะค่อยๆ แห้งลง และมีรอยบุ๋มตรงกลาง กลายเป็นแผลเป็นภายใน 3-6 สัปดาห์ (ถ้าไม่มีตุ่มขึ้น กรุณาแจ้งแพทย์เมื่อมาตรวจสุขภาพ)
- การเช็ดสะดือ
ใช้แอลกอฮอล์ 70% ในการเช็ดทำความสะอาดสะดือทารก โดยใช้สำลีหรือไม้พันสำลีชุบแอลกอฮอล์ 70% เช็ดบริเวณสะดือ โดยจับขั้วสะดือยกขึ้น แล้วเช็ดให้ถึงโคนสะดือทุกวัน และเช็ดในร่องลึกที่โคนสะดือด้วย โดยปกติขั้วสะดือจะหลุดภายใน 7-10 วัน หลังคลอด หลังจากขั้วสะดือหลุดแล้วอาจจะมีเลือดซึมเล็กน้อย หรือมีคราบสีเหลืองบริเวณสะดือได้ ให้เช็ดสะดือด้วยแอลกอฮอล์ 70% ต่อไป จนกว่าสะดือจะแห้งดี (ห้ามใช้แป้งหรือยาผงใดๆ โรยสะดือเป็นอันขาด)
- การตรวจคัดกรองสุขภาพทารกแรกเกิด
ทางโรงพยาบาลได้ทำการเจาะเลือดทารก เพื่อตรวจหาโรคขาดไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด และโรคพีเคยู (PKU) ซึ่งเกิดจากการขาดเอนไซม์ย่อยกรดอะมิโนชนิดหนึ่ง โรคทั้งสองนี้เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะปัญญาอ่อน ซึ่งยังไม่แสดงอาการตอนแรกเกิด การตรวจเลือดจะช่วยให้วินิจฉัยโรคได้เร็วและให้การรักษาได้ทันก่อนที่จะเกิดภาวะปัญญาอ่อน ถ้าผลการตรวจเลือดอยู่ในเกณฑ์ที่สงสัยว่าจะผิดปกติ ทางโรงพยาบาลจะมีการติดต่อให้คุณพ่อคุณแม่ พาลูกน้อยมาเจาะเลือดเพื่อตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง ภายใน 2 สัปดาห์หลังออกจากโรงพยาบาล แต่ถ้าไม่มีการติดต่อกลับจากโรงพยาบาล แสดงว่าผลเลือดเป็นปกติ
- การรับใบสูติบัตร
ทางโรงพยาบาลจะดำเนินการแจ้งเกิดให้ทารก (ในกรณีที่เอกสารครบสมบูรณ์) เมื่อได้รับใบสูติบัตรจากสำนักงานเขตแล้ว เจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับเพื่อแจ้งให้คุณพ่อคุณแม่ทราบ และมารับใบสูติบัตรได้ที่แผนกประเมินค่ารักษาอาการ อาคาร 1 ชั้น 2
- การขับถ่ายของลูกน้อย
การถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง โดยปกติทารกแรกเกิดอาจถ่ายอุจจาระวันละหลายครั้งได้ โดยเฉพาะในทารกที่เลี้ยงด้วยนมแม่ ขณะดูดนมแม่ บิดตัว หรือผายลม อาจมีอุจจาระเล็ดออกมาด้วย หรือทารกอาจถ่ายอุจจาระทุกครั้งหลังกินนมแม่เสร็จ ซึ่งอาการดังกล่าวเป็นอาการปกติ ส่วนอาการท้องเสียในทารกแรกเกิดนั้น จะไม่ได้นับที่จำนวนครั้งของการถ่ายอุจจาระ แต่ควรดูจากลักษณะอุจจาระ ซึ่งจะมีลักษณะเหลวเป็นน้ำ ไม่มีกากปน หากมีกลิ่นเหม็นคาวหรือมีมูกเลือดปน ควรรีบพาทารกมาพบแพทย์
การไม่ถ่ายอุจจาระทุกวัน เป็นอาการที่พบได้มาก ทารกไม่จำเป็นต้องถ่ายอุจจาระทุกวัน บางคนอาจถ่ายวันเว้นวัน หรือ 1 ครั้ง/หลายวัน แต่อุจจาระที่ออกมาจะมีลักษณะนิ่ม ทารกสามารถถ่ายอุจจาระได้ไม่ลำบาก และไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ถือว่าปกติ แต่อาการท้องผูก หมายถึง การถ่ายอุจจาระเป็นก้อนแข็ง ทารกไม่สามารถเบ่งถ่ายอุจจาระออกมาได้ หรือถ่ายลำบากและมีอาการท้องอืด อึดอัด ร้องกวน หรืออาเจียน คุณพ่อคุณแม่ควรพามาพบแพทย์
