ทำแท้งไม่ใช่อาชญากรรม

ทำแท้งไม่ใช่อาชญากรรม: สำรวจเส้นทางและอุปสรรคของสิทธิการทำแท้ง

ในประเทศไทย หากมีผู้หญิงสักคนท้อง ‘ไม่พร้อม’ และตัดสินใจที่จะยุติการตั้งครรภ์ สิ่งที่ผู้หญิงคนนั้นต้องเจอคือการกีดขวางในแทบทุกหนทางที่หันไป

หนึ่งคือกฎหมาย – ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301-302 ระบุให้การทำแท้งเป็นความผิดอาญามาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และ มาตรา 302 ผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอมต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ 

โดยมีเพียงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305 ที่ยกเว้นความผิด และอนุญาตให้แพทย์ยุติการตั้งครรภ์ให้ผู้หญิงได้ในกรณีที่ครรภ์นั้นส่งผลต่อ ‘สุขภาพ’ ของผู้หญิง อันหมายถึงสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามคำนิยามของแพทยสภา หรือในกรณีที่ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงที่จะพิการหรือเป็นโรคทางพันธุกรรมที่รุนแรง หรือในกรณีที่การตั้งครรภ์นั้นเกิดจากการกระทำผิด เช่น ข่มขืน ล่วงละเมิด ข่มขู่ และการตั้งครรภ์ของเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี

สองคือกับดักศีลธรรม – ความเชื่อทางศาสนา และวาทกรรมในสังคมมากมายสะท้อนว่า ผู้คนมองการยุติการตั้งครรภ์เป็นความผิดบาป หาใช่ทางเลือก หรือความปลอดภัย ที่เหมาะกับเงื่อนไขชีวิตของผู้หญิง กับดักศีลธรรมนี้อยู่ในทุกหย่อมย่าน อาจเป็นคนไม่รู้จัก อาจเป็นครอบครัว อาจเป็นแพทย์ที่มีสิทธิตัดสินใจทำแท้งปลอดภัยให้ผู้หญิงได้ ไปจนถึงบางใครที่กำลังนั่งตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในสภา บางใครที่อาจมอบช่องทางความปลอดภัยให้ผู้หญิงได้

สามคือกับดักความเป็นแม่ – ค่านิยมทางสังคมยังคงเชิดชูและผลักบทบาทความเป็นแม่ให้กับผู้หญิง และการตัดสินใจไม่รับบทบาทนั้น อาจตามมาด้วยการถูกประณามจากคนรอบข้าง ราวกับการเป็นแม่นั้นง่ายดาย ราวกับการเปลี่ยนชีวิตโดยที่ไม่พร้อมเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งสามข้อรุมยำและซ้ำเติม จนนำมาสู่สิ่งกีดขวางข้อที่สี่ คือการที่การทำแท้งกลายเป็นเรื่องที่หลายคนเลือกไม่พูดถึง ไม่มีการให้ความรู้ที่ถูกต้องทั้งในอินเทอร์เน็ตหรือในสถานศึกษา มีเพียงช่องทางจากผู้รณรงค์และผลักดันการทำแท้งถูกกฎหมายที่ผู้หญิงจะสามารถเข้าถึงข้อมูล ได้รับคำปรึกษา และนำพวกเธอสู่ทางที่ปลอดภัยได้

นี่คือสิ่งแวดล้อม นี่คืออากาศที่ผู้หญิงไทยต้องสูดเข้าไปกระทั่งวันนี้

แต่ไม่โชคร้ายเกินไปนัก ตลอดมายังมีผู้ที่พยายามต่อสู้เพื่อสิทธิการทำแท้งของผู้หญิง จากกลุ่มเล็กๆ ขยายใหญ่ แตกแขนงเป็นเครือข่าย มีผู้ที่พยายามบอกต่อข้อมูล งัดข้อกับความเชื่อและค่านิยมที่บีบคั้นผู้หญิงในสังคม จนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่า มาตรา 301 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 27 เรื่องชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน หรือ มาตรา 28 เรื่องเสรีภาพในชีวิตร่างกาย

101 ชวน ทัศนัย ขันตยาภรณ์ จากเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม (CHOICES NETWORK) และนิศารัตน์ จงวิศาล นักกิจกรรม ผู้ให้คำปรึกษาการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมจากกลุ่ม ‘ทำทาง’ และแอดมินเพจ ‘คุยกับผู้หญิงที่ทำแท้ง’ สนทนาถึงเส้นทางการขับเคลื่อนประเด็นการทำแท้งในประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ประสบการณ์จริงและบางเรื่องราวที่ได้สัมผัสจากผู้หญิงที่ต้องการทำแท้ง พร้อมกับเจาะลึกอุปสรรครอบด้านที่ขัดขวางสิทธิการทำแท้งถูกกฎหมายในประเทศไทย

ย้อนดูการต่อสู้เพื่อสิทธิยุติการตั้งครรภ์ในประเทศไทย : ทัศนัย ขันตยาภรณ์

ทัศนัย ขันตยาภรณ์ จากเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม (CHOICES NETWORK) ใช้เวลามากกว่าครึ่งชีวิตเพื่อผลักดันงานด้านสุขภาพผู้หญิง อนามัยแม่และเด็ก และอนามัยการเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เธอทำงานในประเด็นการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2548 บนเวลายาวนานว่า 10 ปีนี้ เธอชวนมองย้อนกลับไปให้เห็นว่า ประเทศไทยมีการเคลื่อนไหวเพื่อ ‘สิทธิในการยุติการตั้งครรภ์’ อย่างไร

ทัศนัยเล่าว่า หลายปีก่อนเครื่องมือการทำแท้งยังมีแค่การขูดมดลูก ต่อมาเทคโนโลยีพัฒนา การทำแท้งสามารถทำได้โดยใช้เครื่องดูดและการใช้ยา ประกอบกับการตรวจความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์ก็สามารถทำได้แม่นยำ เราจึงคาดเดาได้มากขึ้นว่าเด็กที่เกิดมาจะพิการหรือไม่ หากแต่กฎหมายกลับยังไม่อนุญาตให้ทำแท้ง เนื่องจากถูกจำกัดไว้โดยเงื่อนไขทางสุขภาพและประเด็นความผิดอาญาทางเพศ ซ้ำยังต้องพบเจอกับอุปสรรคทางศีลธรรมและความเชื่อเรื่องบุญบาปที่เข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งสะท้อนชัดผ่านวาทกรรมทางการเมืองในสมัยก่อน

“ประเด็นการทำแท้งต้องดูด้วยว่าผู้หญิงมีต้นทุนชีวิตทางด้านไหนมากกว่ากัน ถ้าเงื่อนไขในชีวิตโอเค ก็ท้องต่อได้ แต่สิ่งสำคัญคือการให้บริการปรึกษาทางเลือก (option counseling) ที่จะช่วยทำให้หายจิตตก และช่วยหาว่าอะไรจะเหมาะสมกับเงื่อนไขชีวิตของเค้า ช่วงนั้นเริ่มมีการเปลี่ยนจากคำว่า ‘ทำแท้ง’ (abortion) มาใช้คำว่า ‘ยุติการตั้งครรภ์’ (termination of pregnancy) และให้ความสำคัญกับสิทธิของผู้หญิงในการเลือก และถ้ามาดูตัวเลขจริงๆ พอเราเปิดโอกาสให้มีทางเลือก ข้อมูลจากสายด่วนปรึกษาท้องไม่พร้อม 1663 จะเห็นว่าประมาณ 90% ผู้หญิง เลือกไม่ท้องต่อ”

นั่นเป็นครั้งแรกที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องร้องเรียนจากภาคประชาสังคม แต่เมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงปี 2563 ก็มีการตีความจากศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้งว่า มาตรา 301 ขัดกับสิทธิชายหญิงเท่าเทียมและเสรีภาพในร่างกาย จำเป็นต้องมีการแก้ไข โดยคณะรัฐมนตรีมีมติให้ 3 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงยุติธรรม รับเรื่องไปแก้ไข และผ่านสภาอีกครั้ง ทัศนัยเล่าว่าปัจจุบันเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อมกำลังดำเนินงานอยู่ในขั้นเตรียมติดต่อ ส.ส. หรือหาแนวร่วมที่จะสนับสนุน

ในปัจจุบันมีกลุ่มที่ผลักดันประเด็นเรื่องสิทธิในการเลือกตั้งครรภ์ของผู้หญิงจำนวนมาก ทั้งเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม (CHOICES NETWORK) เครือข่ายแพทย์อาสา RSA กลุ่มทำทาง สายด่วน 1663 รับปรึกษาปัญหาท้องไม่พร้อม ที่ร่วมกันผลิตวาทกรรมใหม่อย่าง ‘ทำแท้งคือบริการสุขภาพ’ และ ‘ทำแท้งไม่ใช่อาชญากรรม ผู้หญิงไม่ใช่อาชญากร’

ในอนาคตอันใกล้นี้ ปลายทางของการต่อสู้ต่อประเด็นท้องไม่พร้อมในสังคมไทยอาจมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่บางที การนับวันรอคอย ‘ประกาศกฎหมายฉบับใหม่’ อาจไม่ใช่ตัวแปรเดียวที่จะสามารถสร้างสังคมแห่งความยุติธรรมให้เกิดขึ้นจริงได้

“ทุกวันนี้เราประสบความสำเร็จแล้วรึเปล่า จะว่าอย่างนั้นก็ไม่ถูก ตราบใดที่ผู้หญิงก็ยังท้องไม่พร้อมด้วยเรื่องเดิมๆ และเรื่องนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข ไม่มีใครไปสร้างความตระหนักรับผิดชอบกับผู้ชายที่มีส่วนทำให้ผู้หญิงท้อง ที่สำคัญคือเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศไม่ได้น้อยลงเลย แถมอายุที่ถูกล่วงละเมิดก็น้อยลงด้วย”

“ความสำเร็จ อาจหมายถึงการสร้างแนวร่วมที่เข้าใจเรื่องนี้ได้มากขึ้น เรากำลังสร้าง critical mass คือแม้เรื่องๆ หนึ่งจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ถ้ามีคนคิด วิเคราะห์ หรือพูดถึงมันมากเพียงพอ สักวันหนึ่งก็จะเกิดพลังของมวลชน แบบปฏิกิริยา Nuclear Fission ในทางฟิสิกส์ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับสังคมได้ เห็นด้วยไหมล่ะ”  นั่นคือคำถามที่ทัศนัยทิ้งท้ายไว้ และหวังว่าจะเกิดปฏิกิริยาไปทั่วทุกมุมของสังคม

อุปสรรคต่อการทำแท้งปลอดภัยของผู้หญิงในประสบการณ์ของผู้ให้คำปรึกษา : นิศารัตน์ จงวิศาล

นิศารัตน์ จงวิศาล นักกิจกรรม ผู้ให้คำปรึกษาการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมจากกลุ่ม ‘ทำทาง’ และแอดมินเพจ ‘คุยกับผู้หญิงที่ทำแท้ง’ เป็นผู้ที่ได้พูดคุยใกล้ชิดกับผู้หญิงหลายคนที่ขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการทำแท้ง ทั้งยังเป็นนักกิจกรรมที่เรียกร้องให้การทำแท้งเป็นเรื่องปลอดภัยและถูกกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2558 เธอย้ำให้เราเห็นว่าช่องทางแคบๆ ในการทำแท้งถูกกฎหมายนั้นไม่เพียงพอ การระบุการทำแท้งให้เป็นความผิดนั้นสร้างอุปสรรคอีกหลายด่านให้ผู้หญิง ทั้งการเข้าถึงบริการอย่างปลอดภัย และการได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน

“ผู้หญิงท้องไม่พร้อมและต้องการทำแท้งหลายคนมาเห็นกฎหมายระบุว่าทำแท้งผิด แล้วก็ไม่รู้ว่าตัวเองจะเข้าเงื่อนไขที่อนุญาตให้ทำแท้งได้ไหม และไม่มีใครช่วยตอบได้ จะไปหาหมอก็ไม่กล้า เพราะหมอหลายคนยังด่าการทำแท้งอยู่เลย นี่เป็นปราการด่านแรก

“ปราการด่านที่สองคือการให้ข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นสถานพยาบาล โรงเรียน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เขาก็ไม่กล้าที่จะบอกบริการหรือให้คำแนะนำได้ เพราะมีกฎหมายบอกอยู่ว่า เฮ้ย มันผิด”

นิศารัตน์เล่าว่า หากผู้หญิงที่ต้องการทำแท้งไม่โทรหาองค์กรที่ทำงานเรื่องนี้ เช่น กลุ่มทำทาง กลุ่มเลิฟแคร์สเตชัน หรือสายด่วนท้องไม่พร้อม 1663 ฯลฯ ก็แทบจะไม่มีช่องทางรับข้อมูลเกี่ยวกับการทำแท้งที่ถูกต้อง กระทั่งชื่อโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่ทำแท้งถูกกฎหมายได้ ก็อาจไม่รู้

“ถ้าผู้หญิงไปตามโรงพยาบาลที่ไม่มีบริการ ไปบอกหมอว่า ไม่โอเคเลย เครียดมาก ซึมเศร้า อยากทำแท้งแล้ว หมอก็จะมีอยู่สองแบบคือ หนึ่ง ไล่กลับ สอง ตอกกลับ ให้เข้ากระบวนการที่มีคณะกรรมการพิจารณาเป็นเดือนๆ ว่าจะทำแท้งให้ไหม

“กรณีนี้เราเคยเจอจริงๆ จากคุณแม่คนหนึ่งที่โทรมาปรึกษาเรื่องลูกสาวต้องการทำแท้ง เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 คุณแม่พาไปที่โรงพยาบาลประจำเขต โรงพยาบาลก็จัดคณะกรรมการมาพิจารณา ใช้เวลายาวนานมาก เขาทำแบบนี้กับเด็กอายุไม่ถึง 15 ด้วยซ้ำ

“นี่เป็นความรุนแรงต่อผู้หญิงนะ การรับรู้ว่าตั้งครรภ์ โดยที่ไม่อยากตั้งครรภ์ ก็เป็นสิ่งที่ทรมานใจอยู่แล้ว แต่ยิ่งกระบวนการทำแท้งถูกทำให้ล่าช้า ท้องโตขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งทรมานใจมากขึ้นไปอีก แล้วกระบวนการทำแท้งในอายุครรภ์ที่ใหญ่ขึ้นก็สร้างความเจ็บปวดให้ผู้หญิงมากขึ้น มันยังปลอดภัยแหละ แต่เจ็บปวดมากขึ้น ยาวนานมากขึ้น”

เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับการทำแท้งอย่างปลอดภัยมีจำนวนน้อย และยังคละเคล้ากับข้อมูลที่ผิดในอินเทอร์เน็ต คนในสังคมจึงยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำแท้งอยู่หลายอย่าง นิศารัตน์กล่าวถึงความเข้าใจผิดหลักๆ อยู่ 3 ข้อ ดังนี้

1.การทำแท้งที่ปลอดภัย หลายคนยังไม่ทราบว่าการทำแท้งในอายุครรภ์ที่น้อยกว่า 9 สัปดาห์ โดยใช้ยาที่ถูกต้องปลอดภัยมากถึง 98 เปอร์เซนต์ โดยที่ 2 เปอร์เซนต์ที่เหลือ ความปลอดภัยจะลดลง แต่ไม่อันตรายถึงชีวิตอย่างที่หลายคนเข้าใจ นอกจากนี้การทำแท้งไม่ได้ทำให้มีลูกไม่ได้ สามารถมีลูกได้ปกติ –“ไม่งั้นจะเกิดการท้องซ้ำหรอ ทำแท้งปุ๊บท้องซ้ำเลยก็มี” นิศารัตน์กล่าว

2.สถานบริการทำแท้งไม่ใช่สถานบริการเถื่อน แต่เป็นสถานบริการที่สะอาดสะอ้านตามมาตรฐานทางการแพทย์ นิศารัตน์ยังย้ำว่า — “เดินเข้าไปจะพบความสว่างไสวสวยงาม ไม่ใช่ที่มืดๆ ทึมๆ อย่างที่ละครบางเรื่องนำเสนอ”

3.การสนับสนุนให้การทำแท้งถูกกฎหมายไม่ใช่การฆาตกรรม นิยามการทำแท้งคือการกระทำเมื่อตัวอ่อนยังไม่ออกมาหรือเป็นอิสระจากครรภ์ของผู้หญิง กล่าวคือทำในครรภ์ที่ต่ำกว่า 24 สัปดาห์ ซึ่งตัวอ่อนจะไม่สามารถมีชีวิตได้ด้วยตัวเองตามหลักการแพทย์ — “หลายคนเข้าใจว่าถ้าให้ทำแท้งเสรีปุ๊บ เด็กต้องออกมาร้องอุแว้ ตัวอ้วนท้วน แล้วเอาไปกดคอให้ตายซะ อันนี้ไม่ใช่การทำแท้ง แต่คือการคลอดก่อนกำหนดแล้วฆาตกรรม ถ้าคุณพูดถึงการทำแท้ง มีเส้นตัดอยู่ค่ะ ไม่ใช่ว่าจะไปทำตอนครรภ์ 8 เดือน” นิศารัตน์กล่าว

นอกจากเรื่องกฎหมายและข้อมูลแล้ว อีกปราการใหญ่ที่ขวางผู้หญิงจากการทำแท้งคือความเชื่อเรื่อง ‘บาปกรรม’ และค่านิยมทางศาสนา ความเชื่อของคนในสังคมและคนรอบข้างบีบอัดความรู้สึกของผู้หญิง และแทนที่ความปลอดภัยของพวกเธอด้วยความผิดบาป นิศารัตน์เล่าว่าเธอเองก็ยังต้องให้คำปรึกษาโดยรับมือกับความเชื่อของผู้หญิงและคนรอบข้างอยู่เสมอ

ความรู้สึกกลัวและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำแท้งทั้งหลาย ส่วนหนึ่งมาจากสิ่งแวดล้อมที่โอบรัดผู้หญิงอยู่ เมื่อภาครัฐไม่เคยทำหน้าที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำแท้งเหมือนข้อมูลสุขภาพอื่นๆ พร้อมกันกับที่ยังมีสื่อจำนวนมากประโคมความเชื่อว่าการทำแท้งเป็นเรื่องผิดบาปร้ายแรงที่จะสร้างผลกระทบต่อชีวิตของผู้หญิงอย่างสาหัส สำหรับนิศารัตน์แล้วทางออกหนึ่งที่สังคมควรมุ่งหน้าไป คือการที่รัฐจะสร้างบรรยากาศใหม่ในการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง กำหนดนโยบายที่เป็นมิตรกับความปลอดภัยของผู้หญิงท้องไม่พร้อม เมื่อนั้นหน่วยต่างๆ ในสังคมก็อาจมีปฏิกิริยาที่เปลี่ยนแปลงไปตามน้ำเสียงและนโยบายของรัฐด้วย

“หน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือทำให้ทุกๆ คนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำแท้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียทางร่างกายและชีวิต รัฐต้องทำหน้าที่นี้ แต่ตอนนี้คุณกำลังละเลย ปิดกั้นไม่ให้ผู้หญิงเข้าถึงสิทธิอยู่ ถ้ารัฐมีคอนเซ็ปต์ว่ายุติการตั้งครรภ์เป็นเรื่องของสุขภาพที่ทุกๆ คนต้องรู้ เหมือนการบอกว่า มาออกกำลังกายกันเถอะ จะได้แข็งแรง อย่ากินน้ำตาลเยอะ เดี๋ยวเป็นเบาหวาน ก็ต้องพูดด้วยว่า การยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัยนะ ไปทำที่โรงพยาบาลได้

“ถ้าเขามีคอนเซ็ปต์อย่างนี้ กระทรวงศึกษาธิการ สาธารณสุข และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องมีนโยบายที่เกี่ยวข้องตามมา เช่น มีข้อมูลการทำแท้งในหลักสูตรการศึกษา ให้ข้อมูลกับเด็กนักเรียนเหมือนเรื่องการใช้ถุงยางอนามัย หรืออย่างน้อยๆ ให้ข้อมูลที่สามารถส่งต่อผู้หญิงไปที่สถานบริการของรัฐหรือเอกชน ให้เขารู้ว่ายุติการตั้งครรภ์ทำได้ที่ไหน และมีการให้คำปรึกษารอบด้าน นี่เป็นสิ่งที่จะทำให้สังคมเปลี่ยนทัศนคติได้ โดยตัวแปรสำคัญที่สุดคือรัฐ”

“ส่วนในหน่วยสังคมอย่างโรงเรียน คุณครู อาจารย์ คุณอาจจะมีความเชื่อของคุณ แต่อย่าลืมว่าคุณก็มีหน้าที่ต้องดูแลเด็กคนหนึ่งให้โตมาอย่างมีคุณภาพเช่นกัน เป็นหน้าที่ของครูด้วยที่จะต้องให้คำปรึกษา ให้ทางเลือกโดยไม่มีอคติ หรือในฐานะของเพื่อน ครอบครัว แฟน หากคุณรักผู้หญิงคนนี้ ที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ คุณก็สนับสนุนให้เขาทำในสิ่งที่จะทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น เหมือนกับถ้าเขาท้องต่อแล้วเขาจะแฮปปี้ คุณก็สนับสนุนเขา เหมือนกัน อันนี้คือสิ่งที่คนรอบๆ ข้างทำได้”

“ในส่วนของสื่อ เรารู้กันอยู่แล้วว่า สื่อเข้าใจผิดเยอะเกี่ยวกับเรื่องการทำแท้ง ทุกวันนี้ก็ยังมีรายการจิตสัมผัส รายการแก้กรรมจากการไปทำแท้งอยู่ ก่อนอื่นเลยควรเลิกใช้คำว่าแม่ใจยักษ์ได้แล้ว เขายังไม่ได้เป็นแม่ เขารู้ว่าแม่เป็นยังไง เขาก็เลยไม่เป็น แม่เป็นยากนะคะ ไม่ใช่ง่ายๆ และไม่ใช่ว่าใครท้องก็ถือว่าเป็นแม่”